เม็ดเลือดขาว - White blood cell

ค่าของ เม็ดเลือดขาว แปลผลอย่างไร?

เม็ดเลือดขาว (White blood cell หรือ WBC หรือ Leukocyte) เป็นเม็ดเลือดที่มีหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย  เม็ดเลือดขาวถูกสร้างจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดแดง แต่มีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือดแดง และมีปริมาณน้อยกว่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดก็จะทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคแต่ละแบบแตกต่างกันไป การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับจำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาวของคนไข้หรือผู้เข้ารับการตรวจ

การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของ เม็ดเลือดขาว เป็นดังนี้

การตรวจปริมาณของ เม็ดเลือดขาว (White blood cell count)

การตรวจปริมาณของเม็ดเลือดขาว (White blood cell count หรือ WBC count หรือ Total white blood cell หรือ Total WBC) ค่านี้เป็นค่าปริมาณของเม็ดเลือดขาวที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ

* มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 4,500 – 11,000 cells/mm3 (ห้องปฏิบัติการบางแห่งอาจรายงานเป็นหน่วย cells/microliter ก็ได้ ซึ่งมีค่าเท่ากันกับหน่วย cell/mm3) จำนวนของเม็ดเลือดขาวที่รายงานนี้เป็นจำนวนของเม็ดเลือดขาวทุกชนิดรวมกัน (All cell types)

ถ้าค่า WBC count มีค่าต่ำ เราเรียกว่าภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ไขกระดูกถูกทำลาย (Bone marrow damage)
  • ความผิดปกติของไขกระดูก (Bone marrow disorder)
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune condition)
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune condition)
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ลามไปกดเบียดไขกระดูก (Lymphoma or other cancers that spread to bone marrow)
  • โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV infection) เป็นต้น

ถ้าค่า WBC count มีค่าสูง เราเรียกว่าภาวะเม็ดเลือดขาวมาก (Leukocytosis) มักเกิดจากภาวะที่มีการอักเสบติดเชื้อในร่างกาย หรือมีความผิดปกติที่ไขกระดูก สาเหตุของภาวะเม็ดเลือดขาวมากที่เป็นไปได้ เช่น

  • มีการติดเชื้อในร่างกาย (Infection) ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) หรือไวรัส (Virus) ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นเพื่อมาจัดการกับเชื้อโรค
  • มีการอักเสบในร่างกาย (Inflammation), เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) หรือมีความผิดปกติของไขกระดูก (Myeloproliferative disorder) ทำให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมามากผิดปกติ
  • ภาวะภูมิแพ้ (Allergy) และหอบหืด (Asthma)
  • มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อในร่างกาย (Tissue death) เช่น แผลไฟไหม้ ถูกกระแทก กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก (Intense exercise)
  • ความเครียดรุนแรง (Severe stress) เป็นต้น
เม็ดเลือดขาว - White blood cell

การตรวจจำแนกชนิดของ เม็ดเลือดขาว (White blood cell differential)

การตรวจจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาว (White blood cell differential หรือ WBC differential หรือ Diff) เป็นการตรวจดูจำนวนของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิด เนื่องจากเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่ในการต่อต้านเชื้อโรคที่แตกต่างกันออกไป การตรวจจำแนกชนิดของเม็ดเลือดขาวนั้น อาจจะทำการรายงานเป็นสัดส่วนของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดต่อจำนวนของเม็ดเลือดขาวทั้งหมด (รายงานหน่วยเป็น %) หรือรายงานเป็นปริมาณของเม็ดเลือดขาวแยกแต่ละชนิด (รายงานหน่วยเป็น cells/mm3) หรือรายงานทั้ง 2 แบบก็ได้ ชนิดของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดที่จำแนกได้ จะเป็นดังนี้

Neutrophil นิวโทรฟิล (Neutrophil; N) เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีจำนวนมากที่สุด ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) และเชื้อรา (Fungi) นิวโทรฟิลเป็นเหมือนด่านแรกของระบบภูมิคุ้มกันที่คอยทำหน้าที่จับกินเชื้อโรค เมื่อนิวโทรฟิลตายก็จะกลายเป็นหนอง (Pus)

* ช่วงอ้างอิงของเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะอยู่ที่ 40 – 80 % หรือประมาณ 2,000 – 7,000 cells/mm3 

ระดับของเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลจะสูงขึ้นกว่าปกติได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ร่างกายเกิดการอักเสบ (Inflammation)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลัน (Acute bacterial infection)
  • มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อในร่างกาย (Tissue death) เช่น แผลไฟไหม้ ถูกกระแทก กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก (Intense exercise)
  • ความเครียดรุนแรง (Severe stress)
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด เช่น Chronic myeloid leukemia (CML)
  • กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome) เป็นต้น

Lymphocyte ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte; L)  เป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการต่อต้านเชื้อไวรัส (Virus) เม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะแบ่งออกเป็นชนิดย่อย 3 ชนิด ได้แก่

  1. B cell  : ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี (Antibody) ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่จับกับเชื้อโรค
  2. T cell : ทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคโดยระบบการกระตุ้นเซลล์ (Cell-mediated immunity)
  3. Natural killer cell (หรือ NK cell) : ทำหน้าที่กำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสและเซลล์มะเร็งโดยวิธีการกระตุ้นเซลล์ (คล้ายกับ T cell) ค่าระดับของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ที่รายงานในการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด จะเป็นค่ารวมของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดย่อยทั้ง 3 ชนิดรวมกัน

* ช่วงอ้างอิงของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์จะอยู่ที่ 20 – 40 % หรือประมาณ 1,000 – 3,000 cells/mm3

สาเหตุที่ทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์สูงขึ้นกว่าปกติ เช่น

  • การติดเชื้อไวรัสแบบเฉียบพลัน (Acute viral infection) เช่น โรคอีสุกอีใส โรคเริม โรคหัด
  • การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (Certain bacterial infection) เช่น โรคคอตีบ วัณโรค
  • การติดเชื้อปรสิตทอกโซพลาสมา (Toxoplasmosis)
  • การอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammation)
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocytic leukemia
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)
  • ความเครียด (Stress) เป็นต้น
White blood cells

Monocyte โมโนไซท์(Monocyte; M)  เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่จับกินเชื้อโรค และสามารถจดจำลักษณะของเชื้อโรคไว้ได้ด้วย มักพบในปริมาณเพียงเล็กน้อยในกระแสเลือด โมโนไซต์เมื่อเคลื่อนที่จากกระแสเลือดเข้าไปในเนื้อเยื่อ จะพัฒนาเป็นเซลล์ที่เรียกว่ามาโครฟาจ (Macrophage)

* ช่วงอ้างอิงของเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์จะอยู่ที่ 2 – 10 % หรือประมาณ200 – 1,000 cells/mm3

สาเหตุที่ทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนี้สูงกว่าปกติ เช่น

  • การติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infection) เช่น เชื้อรา วัณโรค
  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่หัวใจ (Bacterial endocarditis)
  • โรคที่เกิดการอักเสบของหลอดเลือดในเนื้อเยื่อ (Collagen vascular disease) เช่น ลูปัส (Lupus) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Monocytic หรือ Myelomonocytic leukemia เป็นต้น

Eosinophil อีโอซิโนฟิล (Eosinophil; E) เป็นเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่หลักในการต่อต้านพยาธิ การแพ้ และการอักเสบ โดยการปล่อยสารเคมีกลุ่ม ไซโตไคน์ (Cytokine) และเอนไซม์ (Enzyme) หลายชนิด เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล มักพบในกระแสเลือดในปริมาณไม่มากนัก

* ช่วงอ้างอิงของเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะอยู่ที่ 1 – 6 % หรือประมาณ 20 – 500 cells/mm3

สาเหตุที่ทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนี้สูงกว่าปกติ เช่น

  • โรคที่เกี่ยวกับภาวะภูมิแพ้ (Allergy) เช่น หอบหืด (Asthma) ภูมิแพ้น้ำมูลไหล (Allergic rhinitis) โรคผิวหนังภูมิแพ้ (Atopic dermatitis)
  • ปฏิกิริยาต่อยาบางชนิด (Drug reaction)
  • การติดเชื้อพยาธิ (Parasitic infection)
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) บางชนิด
  • ภาวะอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) เป็นต้น

Basophil เบโซฟิล (Basophil; B) เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีบทบาทเกี่ยวกับ การอักเสบ และ ภาวะภูมิแพ้ เช่นเดียวกับเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล เบโซฟิลมักพบในปริมาณเพียงเล็กน้อยในกระแสเลือด ถ้าอยู่ในเนื้อเยื่อจะถูกเรียกว่าแมสเซลล์ (Mast cell) ซึ่งมีลักษณะและการทำหน้าที่เหมือนกัน เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิลสามารถปล่อยสารเคมีชื่อฮีสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทอย่างมากในกระบวนการก่อปฏิกิริยาภูมิแพ้ (Anaphylaxis) และภาวะภูมิแพ้ (Allergy) ในร่างกาย

* ช่วงอ้างอิงของเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะอยู่ที่ < 1 – 2 % หรือประมาณ 20 – 1 ,000 cells/mm3

สาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีระดับสูงกว่าปกติ เช่น

  • สาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีระดับสูงกว่าปกติ เช่น
  • ผื่นลมพิษ (Urticaria)
  • ภาวะอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) บางชนิด เป็นต้น

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page