fbpx
มาลาเรีย - malaria

มาลาเรีย อันตรายสายเดินป่า

มาทำความรู้จักกับ มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือ ไข้ป่า (Malaria)

มาลาเรีย คือ โรคที่เกิดจากเชื้อ โปรโตซัว มี ยุงก้นปล่องเพศเมีย เป็นพาหะนำโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูงและหนาวสั่น โดยมักพบโรคนี้ในประเทศเขตร้อนขึ้นและพื้นที่ที่มีน้ำขังตามธรรมชาติ

เชื้อ มาลาเรีย ที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่

  1. Plasmodium falciparum (P.f.) เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการ มาลาเรีย ขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. Plasmodium vivax  (P.v.) เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรค ไข้มาลาเรีย เป็นๆ หายๆ
  3. Plasmodium malariae   (P.m.)
  4. Plasmodium ovale  (P.o.)
  5. Plasmodium knowlesi  (P.k.) เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสม แล้วติดมาสู่คน

การติดต่อของโรค มาลาเรีย

เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือด

ระยะฟักตัวของโรค

  • Plasmodium  falciparum (P.f) ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน
  • Plasmodium vivax  (P.v) และ Plasmodium  ovale (P.o) ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน
  • Plasmodium malariae   (P.m) ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน

ระยะติดต่อ และ วงจรชีวิตเชื้อมาลาเรีย

เชื้อ มาลาเรีย มีการเจริญเติบโตอยู่ 2 ระยะ คือ ในยุงก้นปล่อง และ ในคน

  • ระยะในยุงก้นปล่อง : เริ่มจากที่ยุงก้นปล่องตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งมีเชื้อมาลาเรียระยะฟักตัว เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ตัวยุงและผสมพันธุ์กันเป็นตัวอ่อนฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวและเดินทางไปยังต่อมน้ำลายยุง เมื่อยุงกัดคนและปล่อยน้ำลายเพื่อไม่ให้เลือดแข็งตัวระหว่างการดูด ก็ปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้าสู่กระแสเลือดคนเช่นกัน
  • ระยะในคน : เมื่อเชื้อ มาลาเรีย เข้าสู่กระแสเลือดก็จะเดินทางผ่านเส้นเลือดไปยังเซลล์ตับ และมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระยะหนึ่งก็แตกออกจากเซลล์ตับ และเชื้อเหล่านี้จะเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดง ระยะที่เชื้ออยู่ในเม็ดเลือดแดง จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนมากขึ้น จนถึงช่วงเม็ดเลือดแดงแตก เชื้อก็จะเข้าสู่เม็ดเลือดแดงอื่นๆเพื่อหาอาหารเลี้ยงตัว มีการเจริญแบ่งตัววนเวียน ทั้งนี้เชื้อบางตัวมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศทั้งเพศผู้เพศเมีย ระยะนี้ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ระยะนี้ตรวจพบเชื้อมาลาเรียในเลือดได้
เชื้อมาราเลีย ใน เม็ดเลือดแดง - infection is in the blood cells

สําหรับเชื้อ มาลาเรีย ไวแวกซ์ (Plasmodium Vivax) นั้น บางส่วนหยุดพักการเจริญเติบโตชั่วคราว เมื่อผ่านไประยะหนึ่งสามารถกลับมาเจริญเติบโตใหม่ได้ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดอาการไข้กลับ เป็นมาลาเรียซ้ำอีก

แหล่งระบาด โรคมาลาเรีย

มาลาเรีย เป็น โรคในเขตร้อน ซึ่งจะพบมากใน ทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเซีย และ ตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ในบางประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา จะพบการติดเชื้อมาลาเรีย มาก เนื่องจากเป็นแหล่งโรค ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางเสมอ เพราะในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับยาป้องกันมาลาเรีย

ในประเทศไทยแหล่งระบาดของมาลาเรียอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร

อาการ ผู้ติดเชื้อ มาลาเรีย

ช่วงแรกของการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันตามสภาพภูมิต้านทาน ส่วนอาการจำเพาะแบบไข้จับสั่นปัจจุบันมักไม่พบอย่างในอดีต ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเล็กน้อย แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นสาเหตุนำของการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต

  • ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อมาลาเรียทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย ส่งผลให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อและอวัยวะสำคัญของร่างกายลดลง
  • มาลาเรียขึ้นสมอง การติดเชื้อมาลาเรียสามารถส่งผลกระทบต่อสมอง อาจทำให้เกิดอาการอ่อนแรง ชัก หรือมีอาการถึงขั้นวิกฤติ
  • ปอดบวมน้ำ เกิดการสะสมของเหลวในปอด ทำให้มีปัญหาในการหายใจ
  • อวัยวะภายในล้มเหลว เช่น ตับ ไต หรือม้าม
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน
  • อาการช็อก เนื่องจากความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว

การป้องกันและควบคุมโรค มาลาเรีย

  1. ป้องกันไม่ให้ยุงกัดโดยนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบน้ำยากันยุง หรือทาสารกันยุง
  2. ทำลายแหล่งแพร่ยุง เช่นที่น้ำขัง
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่มีมีการแพร่โรคสูง หากจำเป็นอาจกินยาป้องกันก่อนเข้าไปในพื้นที่ และเมื่อออกมาแล้วตรวจเลือดหาเชื้อ
  4. แรงงานหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและถ้าพบต้องรักษา
ป้องกันและควบคุมโรค มาลาเรีย - Malaria prevention and control

การตรวจทาง ห้องปฏิบัติการ

  1. ตรวจหาเชื้อมาเลเรีย Malaria Antigen
  2. การย้อมสี Thick film , Thin film 
  3. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC

บรรณานุกรม

  1. Hospital for Tropical Diseases. (2020). มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria). https://www.tropmedhospital.com/knowledge/malaria.html
  2. Global Health, Division of Parasitic Diseases and Malaria. (2024, April 9). Malaria. https://www.cdc.gov/parasites/malaria/index.html
  3. Phillips, M., Burrows, J., Manyando, C. et al. Malaria. Nat Rev Dis Primers 3, 17050 (2017). https://doi.org/10.1038/nrdp.2017.50

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ ได้ที่

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page