ตรวจปัสสาวะ - urinalysis

การ ตรวจปัสสาวะ บอกอะไรเราได้? (EP.1)

การ ตรวจปัสสาวะ UA หรือ Urinalysis คือ การตรวจปัสสาวะที่ถูกไตคัดกรองในรูปแบบของเสียและมีสถานะเป็นของเหลว นำมาตรวจสอบส่วนประกอบของปัสสาวะเบื้องต้น การตรวจปัสสาวะจะตรวจตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพของ สี  ความใส   และสารเคมี แร่ธาตุ  และวิตามินบางชนิด ที่เป็นส่วนประกอบที่เกินความจำเป็นต่อความต้องการของร่างกาย

ประโยชน์ของการ ตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะ สามารถเป็นตัวบอกสุขภาพของระบบการทำงานอวัยวะภายใน   เนื่องจากสารของเสียที่ถูกคัดกรองจากไตนั้น มีส่วนประกอบที่ผิดปกติถูกขับออกมากับปัสสาวะ ได้แก่ โปรตีน เลือดหรือมีการติดเชื้อหรือไม่ ทำให้แพทย์สามารถนำผลการตรวจปัสสาวะ ไปวิเคราะห์ ติดตาม และคาดการณ์โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะต้องตรวจอะไรบ้าง

1. การตรวจดูลักษณะทางกายภาพทั่วไป (Visual Examination)

1.1 สีของปัสสาวะ(Urine colour)

มีปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของปัสสาวะ เช่น ความเข้มข้นของปัสสาวะ อาหารที่กิน ยาที่กิน และการป่วยเป็นโรคบางอย่าง  ปัสสาวะปกติจะมีสีเหลือง (Yellow)  ปัสสาวะที่มีสีต่างออกไปจากโทนสีเหลือง เกิดได้จากหลายสาเหตุ

  • ปัสสาวะเจือจางมาก เช่น ในคนที่ดื่มน้ำมามากๆ อาจจะใสไม่มีสี (Colorless) หรือมีสีเหลืองอ่อน (Pale yellow)
  • ปัสสาวะเป็นสีเหลืองสว่าง (Bright yellow) อาจเกิดจากการกินวิตามินรวม (Multivitamin)  หรือวิตามินบีรวม (B complex)
  • ปัสสาวะสีแดง  (Red) หรือแดงออกน้ำตาล (Brown)  อาจเกิดจากมีเลือดปนในปัสสาวะ (Hematuria) เช่น จากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) นิ่วในไต (Nephrolithiasis หรือ Renal calculi) นิ่วในท่อไต (Ureterolithiasis หรือ Ureteral calculi) ภาวะฮีโมโกลบินในปัสสาวะ (Hemoglobinuria) เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis) ภาวะไมโอโกลบินในปัสสาวะ (Myoglobinuria) เนื่องจากกล้ามเนื้อสูญสลาย (Rhabdomyolysis) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy) ภาวะเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะหลังจากการออกกำลังกายอย่างหนัก (Exercise-induced hematuria)
  • ปัสสาวะสีส้ม (Orange) อาจเกิดจากขาดน้ำ หรือกินแครอท (Carrot) หรือวิตามินซีอัดเม็ด (Vitamin C) จำนวนมาก หรือกินยา เช่น ยารักษาวัณโรค (Rifampicin หรือ Rifampin) ยาลดการระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ (Phenazopyridine หรือ Pyridium)
  • ปัสสาวะสีขาว (White) อาจเกิดได้จาก มีหนองปนในปัสสาวะ (Pyuria) คือมีเซลล์เม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ปนอยู่ในปัสสาวะจำนวนมาก มักเกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI) หรือในคนไข้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis) หรือคนที่ติดเชื้อหนองใน (Gonorrhea)
สีของปัสสาวะ Urine colour

1.2 ความใสของปัสสาวะ 

บ่งบอกลักษณะสารอาหารที่รับประทาน ปริมาณน้ำที่ดื่ม และสารประกอบการตรวจปัสสาวะจากยาที่รับประทานเป็นการดูว่าปัสสาวะนั้นมีความใสหรือขุ่นเพียงใด โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ   ได้แก่

  • ใส (Clear)
  • ขุ่นเล็กน้อย (Mildly cloudy)
  • ขุ่น (Cloudy)
  • ขุ่นข้น (Turbid)

ความใสของปัสสาวะจะลดลงถ้ามีการปนเปื้อนของสิ่งต่างๆ อยู่ในปัสสาวะ ซึ่งปัสสาวะปกติ (Normal light urine) นั้น อาจจะใสหรือขุ่นก็ได้

การปนเปื้อนของสารบางอย่างที่พบได้ในคนปกติทั่วไป เช่น

  • เมือก (Mucous)
  • สเปิร์ม (Sperm)
  • สารคัดหลั่งจากต่อมลูกหมาก (Prostatic secretion)
  • สารคัดหลั่งจากช่องคลอด (Vaginal discharge)
  • เศษเซลล์เยื่อบุ (Cellular debris)
  • ผลึกที่พบได้ทั่วไปในปัสสาวะ (Urine crystal) ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อน (Contaminant)

การปนเปื้อนของสิ่งผิดปกติ เช่น

  • เม็ดเลือดขาว (White blood cell)
  • เม็ดเลือดแดง (Red blood cell)
  • แบคทีเรีย (Bacteria)
  • หรือโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ก็ทำให้ปัสสาวะขุ่นขึ้นได้เช่นกัน

2. การตรวจวิเคราะห์ทางเคมี (Chemical Examination)

2.1 ความเป็นกรด-ด่าง (pH) 

 คือ ความสมดุลของปัสสาวะ ที่ขึ้นอยู่กับสภาพการทำงานภายในร่างกายและพฤติกรรมการบริโภคสารอาหาร   โดยทั่วไปปัสสาวะจะมีความเป็นกรดอยู่เล็กน้อย (ประมาณ pH = 6) แต่อาจเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อยก็ได้ 

ปัจจัยที่ทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น

  • การกินอาหารที่มีซิเตรต (Citrate) สูง อย่างผลไม้กลุ่มซิตรัส (Citrus fruit) เช่น ส้ม ส้มโอ มะนาว หรือการกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low carbohydrate) และการกินผักมากๆ เช่น คนที่เป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมาก
  • ความเจ็บป่วยบางอย่างทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น เช่น โรคท่อหน่วยไตมีความผิดปกติในการขับกรด (Renal tubular acidosis; RTA) ทางเดินปัสสาวะอุดตัน (Urinary tract obstruction), ไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure หรือ Chronic kidney disease), พิษจากยากลุ่มซาลิซิเลต (Salicylate poisoning), ภาวะหายใจเร็ว (Hyperventilation)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ (Bacterial urinary tract infection) ส่วนใหญ่มักจะทำให้ปัสสาวะเป็นด่างมากขึ้น เนื่องจากแบคทีเรียอย่างโปรเตียส (Proteus) และเครปซีลลา (Klebsiella)

ค่าความเป็นกรด-ด่างในปัสสาวะ ยังมีความสำคัญในเรื่องการทำให้เกิดนิ่วด้วย เนื่องจากสารเคมีในปัสสาวะบางอย่าง จะตกตะกอนเป็นผลึก (Crystal) จนสะสมเกิดเป็นนิ่วได้ดี ในสภาวะที่ปัสสาวะมีความเป็นกรด-ด่างเหมาะสม เช่น

  • ผลึกแคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate)
  • แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate)
  • แมกนีเซียม-แอมโมเนียม ฟอสเฟต (Magnesium-ammonium phosphate)
  • และนิ่วเขากวาง (Staghorn calculi) จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อปัสสาวะมีความเป็นด่าง
  • ส่วนผลึกกรดยูริก (Uric)
  • และนิ่วซิสทีน (Cystine calculi) จะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรด
exam-urine pH

2.2 ความถ่วงจำเพาะ (SG)

คือ เป็นการหาความเข้มข้นของปัสสาวะ (Concentration )

  • ช่วงอ้างอิงของค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะจึงอยู่ที่ 1.003 – 1.035

ค่าความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะที่ต่ำ อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติบางอย่างของร่างกาย เช่น

  • การใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretic use)
  • โรคเบาจืด (Diabetes insipidus)
  • ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ (Adrenal insufficiency)

ค่าความถ่วงจำเพาะที่สูง อาจสัมพันธ์กับความผิดปกติบางอย่างได้เช่นกัน เช่น พบน้ำตาลในปัสสาวะ (Glucosuria)

2.3 โปรตีน (Protein)

คือ การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะนั้นเป็นการตรวจคัดกรองดูว่ามีภาวะไตถูกทำลาย (Kidney damaged) สามารถเกิดขึ้นในคนทั่วไปที่แข็งแรงได้ในบางกรณีเช่นกัน เช่น มีความเครียด (Stress), การออกกำลังกาย (Exercise), เป็นไข้ (Fever), ได้รับยาแอสไพริน (Aspirin)   

สามารถพบภาวะโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ที่มีสาเหตุจากไตถูกทำลาย (Kidney damaged) ที่ถือว่าเป็นอันตรายนั้น ที่พบได้บ่อยที่สุดจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ

  • จากโรคเบาหวานทำลายไต (Diabetes nephropathy)
  • จากโรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive nephrosclerosis)

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้มีเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มอาการเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome), โรคอะไมลอยโดซิส (Amyloidosis), โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy), ภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis), โรคไตอักเสบลูปัส (Lupus nephritis), ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia), การติดเชื้อแบคทีเรียที่หัวใจ (Bacterial endocarditis), โรคโปรตีน Light chain สะสม (Light chain deposition disease) ซึ่งมักสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma), กลุ่มอาการความผิดปกติของการดูดซึมกลับของท่อหน่วยไตส่วนต้น (Fanconi syndrome) เป็นต้น สงสัยภาวะที่กล่าวมาเหล่านี้ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจยืนยันกับแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงทำการรักษาในโรคหรือภาวะที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อไป

2.4 กลูโคส (Glucose)

คือ การตรวจกลูโคสในปัสสาวะที่รั่วจากน้ำตาลในกระแสเลือดที่มากเกินไปโดยปกติน้ำตาลกลูโคสจะไม่พบอยู่ในปัสสาวะ

าวะที่พบมีน้ำตาลกลูโคสอยู่ในปัสสาวะ (Glucosuria) มักบ่งชี้ถึงระดับน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) โดยเฉพาะเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ หรือเบาหวานที่ยังไม่ได้ทำการรักษา โดยมักจะพบน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะได้ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยสูงประมาณ 180 mg/dL ขึ้นไป

ภาวะอื่นๆ ก็อาจทำให้พบน้ำตาลกลูโคสในปัสสาวะได้ เช่น คนตั้งครรภ์ (Pregnancy), กลุ่มอาการความผิดปกติของการดูดซึมกลับของท่อหน่วยไตส่วนต้น (Fanconi syndrome), กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)

exam-urine

2.5  คีโตน (Ketones)

คือ การตรวจปริมาตรค่าคีโตนในปัสสาวะที่เกิดจากน้ำตาลไม่สามารถแปลงเปลี่ยนเป็นพลังงานต่อร่างกายได้ ทำให้ไขมันแปลงเปลี่ยนเป็นคีโตนในการให้พลังงานแทนน้ำตาลโดยปกติสารคีโตนจะไม่พบอยู่ในปัสสาวะ

ภาวะที่ทำให้พบคีโตนในปัสสาวะได้ เช่น

  • โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ (Uncontrolled diabetes mellitus)
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis; DKA)
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก (Strenuous exercise)
  • ภาวะอดอาหาร (Starvation)
  • ภาวะอาเจียนอย่างมาก (Prolonged vomiting)
  • และการตั้งครรภ์ (Pregnancy)

2.6 ไนไตรท์ (Nitrites)

โดยปกติสารไนไตรต์จะไม่พบอยู่ในปัสสาวะ หากพบไนไตรต์ในปัสสาวะ จะบ่งชี้จำเพาะว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection; UTI)

สาเหตุที่การตรวจพบสารไนไตรต์บ่งชี้ถึง การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิด สามารถเปลี่ยนสารไนเตรต (Nitrate) ในปัสสาวะให้เป็นสารไนไตรต์ (Nitrite) ทำให้ตรวจพบสารไนไตรต์ในตัวอย่างปัสสาวะได้ แบคทีเรียที่สามารถเปลี่ยนไนเตรตเป็นไนไตรต์ได้ เช่น E .coli, Proteus, Klebsiella, Enterobactor, Citrobactor, Pseudomonas 

2.7 บิลิรูบิน (Bilirubin)

คือ เป็นสารเคมีในร่างกายที่สร้างจากตับ ความเข้มของสีจะเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับส่วนของตับมีการอุดตันท่อน้ำดีหรือไม่  ในคนปกตินั้นจะไม่พบบิลิรูบินในปัสสาวะ

แต่หากร่างกายเกิดภาวะผิดปกติขึ้นมา คือ มีภาวะที่เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี (Biliary obstruction) จากสาเหตุต่างๆ เช่น

  • ตับแข็ง (Cirrhosis)
  • การใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้น้ำดีไหลช้า อย่างสเตียรอยด์ หรือยาแก้โรคจิตเวช
  • โรคมะเร็งที่ตับหรือทางเดินน้ำดี เช่น มะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) ) มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic tumor)   
  • นิ่วที่อุดตันทางเดินน้ำดี (Stone)
  • หรือเกิดภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) จะพบมีบิลิรูบิน สะสมเพิ่มขึ้นในเลือด และถูกขับออกมาทางปัสสาวะให้ตรวจพบได้

2.8  ยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen)

คือ การตรวจหาสารยูโรบิลิโนเจนในปัสสาวะ มักใช้พิจารณาร่วมไปกับการตรวจบิลิรูบินในปัสสาวะเพื่อแยกโรค โดยเมื่อบิลิรูบิน (Bilirubin) ถูกขับออกมาในทางเดินอาหาร จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ (Intestine) เปลี่ยนเป็นสารยูโรบิลิโนเจน (Urobilinogen) ส่วนหนึ่ง

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page