เกล็ดเลือด (Platelet; PLT) คืออะไร?
เกล็ดเลือด (Platelet หรือ PLT หรือ Thrombocyte) เป็นเม็ดเลือดที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือดทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำให้เลือดแข็งตัว (Blood clotting) เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลและมีเลือดไหล เกล็ดเลือดจะพองตัว และรวมกลุ่มกัน ทำให้เกิดลักษณะเป็นก้อนเหนียวภายในหลอดเลือด เพื่ออุดแผล ทำให้เลือดหยุดไหล เกล็ดเลือดถูกสร้างขึ้นจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดชนิดอื่นๆ มีอายุอยู่ในกระแสเลือดได้ประมาณ 8 – 9 วัน จากนั้นเกล็ดเลือดที่เสื่อมสภาพจะถูกนำไปทำลายที่ตับและม้าม
การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของ เกล็ดเลือด เป็นดังนี้
Platelet count
การตรวจปริมาณของเกล็ดเลือด (Platelet count) เป็นค่าปริมาณของเกล็ดเลือดที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ
* มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 450,000 cell/mm3 (หรือ cell/microliter ซึ่งมีค่าเท่ากัน)
หากค่า Platelet count ต่ำ จะเรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ทำให้เกิดปัญหาเลือดไหลแล้วหยุดได้ยาก เกิดจุดเลือดออก (Petechia) จ้ำเลือดขนาดเล็ก (Purpura) จ้ำเลือดขนาดใหญ่ (Ecchymosis) ขึ้นตามผิวหนัง
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ มีได้หลากหลายมาก ที่พบได้ เช่น
- คนตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ภาวะม้ามโต (Spleenomegaly)
- โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura หรือ Idiopathic thrombocytopenic purpura หรือ ITP)
- ผลจากการกินยาบางชนิด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ซัลฟา (Sulfa) เฮพาริน (Heparin)
- ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis)
- การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis)
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) โรคหัด (Measles) โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- ได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี (Chemo or radiation therapy), ภาวะความผิดปกติของไขกระดูก เช่น Myelodysplasia และ Aplastic anemia
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เป็นต้น
หากค่า Platelet count มีค่าสูง จะเรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis) ทำให้เกิดปัญหาเกิดเลือดแข็งตัวแบบผิดปกติในหลอดเลือดได้
สาเหตุของภาวะ เกล็ดเลือดสูง พบได้หลายอย่าง เช่น
- ความผิดปกติของไขกระดูก (Myeloproliferative disorder) เช่น ภาวะไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมากผิดปกติ (Essential thrombocytosis)
- โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น มะเร็งปอด มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
- ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
- ภาวะอักเสบเรื้อรัง เช่น ลูปัส (Lupus) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) เป็นต้น
Platelet morphology
นอกจากการตรวจจำนวนเกล็ดเลือดแล้ว จะรายงานผลเกี่ยวกับเกล็ดเลือดจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ดูหยดเลือดย้อมสีบนแผ่นสไลด์ (Peripheral blood smear) โดยจะนับดูจำนวน ขนาด และรูปร่าง ของเกล็ดเลือด หากพบความผิดปกติก็จะรายงานผลความผิดปกติ โดยลักษณะความผิดปกติของเกล็ดเลือดที่พบได้ เช่น
พบเกล็ดเลือดเกาะกลุ่ม (Clumping) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความผิดพลาดในการเตรียมตัวอย่างเลือด ทำให้เกิดการแข็งตัวในหลอดเก็บเลือดขึ้น (โดยเฉพาะแบบที่ใช้สาร EDTA เป็นสารกันเลือดแข็งตัว) ลักษณะจะพบเกล็ดเลือดเกาะรวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจปริมาณของเกล็ดเลือดพบต่ำกว่าปกติได้ (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้เข้ารับการตรวจมีปริมาณเกล็ดเลือดปกติ) วิธีการแก้ไขคือเจาะเลือดตรวจใหม่ โดยอาจใช้หลอดเก็บเลือดที่ผสมสารกันเลือดแข็งตัวชนิดอื่น เช่น ซิเตรต (Citrate) หรือเฮพาริน (Heparin) แทน เพื่อลดโอกาสเกิดการแข็งตัว
พบเกล็ดเลือดยักษ์ (Giant platelet) คือพบเกล็ดเลือดที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจจะขนาดใหญ่เท่ากับขนาดของเม็ดเลือดแดงเลยก็ได้ เกล็ดเลือดที่ผิดปกติชนิดนี้ มักจะพบได้ในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) บางสาเหตุ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura หรือ Idiopathic thrombocytopenic purpura หรือ ITP) เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Ceelie H, Dinkelaar RB, van Gelder W. Examination of peripheral blood films using automated microscopy; evaluation of Diffmaster Octavia and Cellavision DM96. J Clin Pathol 2007;60(1):72-9.
- Constantino BT. Reporting and grading of abnormal red blood cell morphology. Int J Lab Hematol 2015;37(1):1-7.
- Curry CV. Medscape – Differential blood count [Internet]. 2015 [cited 2017 Apr 16]. Available from:[emedicine.medscape.com]
- Lab Tests Online. Complete blood count (CBC) [Internet]. 2017 [cited 2017 Apr 16]. Available from: [testing.com]
- Mayo Clinic. Complete blood count (CBC) [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 16]. Available from: [mayoclinic.org].
- Tidy C. Patient – Peripheral blood film [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 20]. Available from: [patient.info]
- Thompson EG, O’Donnell J. WebMD – Complete blood count (CBC) [Internet]. 2015 [cited 2017 Apr 16]. Available from: [webmd.com]
- World Health Organization (WHO). The global prevalence of anaemia in 2011. Geneva: WHO; 2015.