คีโตเจนิก ไดเอท (Ketogenic Diet) หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า อาหาร คีโต เป็นหลักการทานอาหารที่เน้นไขมันสูงและโปรตีนปานกลาง จะต้องลดการทานคาร์โบไฮเดรตให้ได้มากที่สุดหรือให้น้อยมาก ๆ ในอาหารแต่ละมื้อ โดยมีจุดประสงค์ทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการสลายไขมันจนเกิดสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Ketone (คีโตน) ที่มีส่วนช่วยในการเผาผลาญได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักจากการทานอาหารที่น่าสนใจ รวมไปถึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือดด้วยเช่นกัน
หลักการของ คีโต ไดเอท คืออะไร?
การทานอาหารแบบ คีโต (Keto diet) คือ การลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต จากแป้ง ข้าว มันฝรั่ง น้ำตาล น้ำผลไม้ และผลไม้บางชนิดลง เมื่อคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายจะถูกย่อยให้กลายเป็นน้ำตาลกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเราลดปริมาณการทานคาร์โบไฮเดรต คาร์โบไฮเดรตที่สะสมในร่างกายจะถูกเผาผลาญหมดก่อน ระดับกลูโคสในเลือดจะลดลง และระดับอินซูลินลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ร่างกายจะดึงพลังงานจากไขมันมาใช้ทดแทนคาร์โบไฮเดรต ร่างกายก็จะเข้าสู่สภาวะคีโตซีส(Ketosis) นั้นเอง
ใครบ้างที่กิน “คีโต” ได้
- ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน
- คนทั่วไปที่อยากลดน้ำหนัก
ใครบ้างที่ไม่ควรกิน “คีโต”
- คนที่มีปัญหาโรคตับ
- ผู้ป่วยโรคไต
- คนที่มีปัญหาในเรื่องของการเผาผลาญไขมัน ใครที่มีคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรค์สูง
- คนที่มีปัญหาเรื่องการบีบตัวของลำไส้ ท้องอืดง่าย ๆ มีกรดไหลย้อน เพราะอาจจะทำให้อาการกำเริบได้
อาหารคีโต ที่ดีต้องเป็นอาหารสด ไม่ผ่านการแปรรูปทางอุตสาหกรรม การทานอาหารคีโตมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ
- อาหารกลุ่มไขมัน
- อาหารกลุ่มโปรตีน
- อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำ
อาหารกลุ่มไขมัน
เน้นไขมันจากธรรมชาติ หรือไขมันดีที่ได้จากไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA : Monounsaturated Fatty Acid) และ ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA : Polyunsaturated Fatty Acid) ได้แก่
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น พิตาชิโอ้ อัลมอนด์ วอทนัท ฯลฯ
- น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว
- น้ำมันข้าวโพด
- อะโวคาโด
- เนย
- ชีส
- ปลาทะเล
อาหารกลุ่มโปรตีน
ประเภทโปรตีน ซึ่งสามารถเลือกทานได้ทั้งโปรตีนจากเนื้อสัตว์และจากพืช เช่น
- เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา
- ไข่ไก่
- ถั่วเหลือง
- เต้าหู้
- ถั่วลูกไก่
- เมล็ดฟักทอง
อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำ
- เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่ เช่นไข่ไก่ ไข่เป็ด
- ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น มอซซาเรลล่าชีส บลูชีส
- กาแฟ ชา ดาร์กช็อกโกแลต และโกโก้ที่ไม่มีน้ำตาล
- ผัก เช่น ผักใบเขียว บล็อกโคลี่ เห็ด ผักโขม ดอกกะหล่ำ พริกหยวก พริกหวาน เป็นต้น
- ผลไม้ เช่น แก้วมังกร แอปเปิ้ลเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ฝรั่ง ส้ม
ประโยชน์ของอาหารคีโต
- ช่วยลดน้ำหนัก : คีโตเจนิคไดเอททำให้ร่างกายปรับมาเผาผลาญไขมันมาเป็นพลังงาน เรียก “คีโตซีส”
- ระบบเผาผลาญดีขึ้น : เนื่องจากคาร์โบไอเดรต มีผลต่อน้ำตาลในเลือดและอินซูลินมากที่สุดซึ่งมีผลต่อระบบเผาผลาญ
- ดีต่อสมอง : ใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมอง เช่น อัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน และยังสามารถลดความถี่และความรุนแรงของอาการชักในเด็กที่เป็นโรคลมชัก
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ลดระดับอินซูลิน
ควรตรวจเช็คสุขภาพจากเลือดก่อนเริ่มทานอาหารคีโตเพื่อให้เหมาะสม
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำตาลสะสม : FBS, HbA1c, Insulin level
- ตรวจการทำงานของตับ : AST,ALT
- ตรวจการทำงานของไต : BUN , Creatinine eGFR
- ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด : Lipid profile