fbpx
มะเร็ง cancer

โรค มะเร็ง ภัยร้ายที่ต้องระวัง

โรคมะเร็ง พบได้ในเพศและวัยใด?

          โรค มะเร็ง (Cancer) พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า

ลักษณะของเนื้องอก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

  1. เนื้องอกร้ายแรง (Malignant tumor)

          เนื้องอกร้ายแรง หรือ โรคมะเร็ง (Cancer)  คือ โรคที่เกิดจากการมีเซลล์ผิดปกติในร่างกายและเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ เซลล์มะเร็งเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายทั่วร่างกาย โดยแพร่พระจายทางกระแสเลือด ต่อมน้ำเหลืองหรือระบบน้ำเหลือง และ ช่องว่างในร่างกาย เมื่อแพร่กระจายแล้ว เซลล์มะเร็งเหล่านี้ก็จะไปฝังตัวและเพิ่มจำนวนที่อวัยวะปลายทาง ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด ได้แก่ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก และไขกระดูก และเมื่อแพร่กระจายแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการรักษาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง

2. เนื้องอกไม่ร้ายแรง (Benign tumor)

          เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง คือ ก้อน ตุ่ม ที่โตขึ้นผิดปกติ เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แต่เนื้องอกชนิดนี้ จะไม่พบการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ

เซลล์ มะเร็ง - Tumor cell

โรคมะเร็งที่พบบ่อย

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่

  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • มะเร็งช่องปาก
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งหลอดอาหาร

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง ได้แก่

  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งตับ
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งรังไข่
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งช่องปาก
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • เนื้องอก/ มะเร็งสมอง
  • มะเร็งนิวโรบลาสโตมา/ Neuroblastoma (มะเร็งของประสาทซิมพาทีติก)
มะเร็ง - cancer

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

          ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน แพทย์จะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งได้ว่ามาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียวหรือมาจากหลากหลายสาเหตุ การตระหนักและตื่นตัวต่อปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งสามารถจำแนกได้ดังนี้

ปัจจัยภายนอก

  1. การสัมผัสรังสี และ สารเคมี ในสิ่งแวดล้อม
    • การสัมผัสรังสีและสารกัมมันตภาพรังสี เช่น แร่ยูเรเนียม หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
    • มีประวัติเคยผ่านการฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งมาก่อน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไทรอยด์
    • บุหรี่ และการสูดดมควันบุหรี่ เป็นปัจจัยหลักที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งและอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่เป็นประจำมีแนวโน้มสูงที่จะตรวจพบมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร หรือมะเร็งปากมดลูก
    • แอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้
    • สัมผัสสารมีฤทธิ์ก่อมะเร็ง เช่น เบนซิน (Benzene) แร่ใยหิน (Asbestos) แคดเมียม (Cadmium) นิกเกิล (Nickle) พอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride) ยาฆ่าแมลง (Pesticides) ก๊าซเรดอน (Radon) ยูเรเนียม (Uranium) ไอเสียจากดีเซล หรือผลิตภัณฑ์จากถ่านหิน
    • สารก่อมะเร็งในอาหาร เช่น อาหารปิ้ง ย่าง หรือทอดที่ไหม้เกรียม สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา สารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เช่น สารไนโตรซามีน (Nitrosamines) ที่มีอยู่ในอาหารหมักดอง
    • การรับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป พบความสัมพันธ์ในการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุมดลูกจากการได้รับการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
  1. โรคติดเชื้อต่างๆ
    • การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสแอชพีวี (HPV virus) ไวรัสตับอักเสบบีและซี (Hepatitis B & C virus)
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pyroli เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เชื้อSalmonella Typhi เพิ่มความเสี่ยงการเป็นะเร็งถุงน้ำดี เป็นต้น
    • การติดเชื้อพยาธิบางชนิด เช่น ติดเชื้อ Opisthorchis viverrini จากการกินปลาน้ำจืด หรือ อาหารสุกๆ ดิบๆ ที่ปนเปื้อนไข่พยาธิ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี

ปัจจัยภายใน

  1. มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยมะเร็งชนิดนี้เกิดจากความผิดปกติของยีน หรือสารพันธุกรรม
  2. อายุที่เพิ่มขึ้น วัยที่เพิ่มมากขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
ปัจจัยก่อมะเร็ง - risk factors that cause cancer

สัญญาณและอาการของโรคมะเร็ง

          โรคมะเร็งหลายชนิดไม่มีอาการแสดงในระยะแรกเริ่ม และมะเร็งบางชนิดอยู่ในอวัยวะที่ตรวจพบได้ยาก หรือถูกบดบังโดยอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย จนเมื่อเซลล์มะเร็งได้ลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ สัญญาณและอาการของมะเร็งจึงจะแสดงออกอย่างชัดเจน โดยสัญญาณและอาการของโรคมะเร็งที่ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ได้แก่

  • มีเลือดออกผิดปกติในบริเวณต่าง ๆ เช่น ทวารหนัก ปากมดลูก
  • ภาวะกลืนอาหารลำบาก รู้สึกเสียดท้องบ่อย
  • เป็นไข้เรื้อรัง
  • ปัสสาวะมีเลือดปน และปัสสาวะลำบาก
  • อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน อุจจาระลำบาก
  • ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด เสียงแหบแห้ง
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก
  • แผลหายช้า หรือเป็นแผลเรื้อรัง
  • คลำได้ก้อนที่คอ เต้านม หรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ไฝ หูด หรือปานบนร่างกายขยายขนาดใหญ่ขึ้น คัน หรือมีเลือดออก
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอด
อาการเตือน มะเร็ง - symptoms of cancer

ระยะของมะเร็ง

          ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค (การลุกลามและแพร่กระจาย) บอกแนวทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง

โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1: มะเร็งจำกัดอยู่ในบริเวณเล็ก ๆ และยังไม่ลุกลามแพร่กระจาย
  • ระยะที่ 2: มะเร็งเติบโตภายในอวัยวะแต่ไม่ลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ
  • ระยะที่ 3: มะเร็งมีขนาดโตขึ้น และอาจลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ
  • ระยะที่ 4: มะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะ หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไกลออกไป

วิธีการรักษาโรคมะเร็ง

การรักษามะเร็งสามารถกระทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ประเภท ระยะของการดำเนินโรค และความต้องการเฉพาะบุคคล ดังนี้

  • การผ่าตัด (Surgery)การผ่าตัดเป็นทางเลือกหลักสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะแรกเริ่ม โดยสามารถรักษาให้หายขาดได้ ในบางกรณี อาจใช้การฉายแสงหรือใช้เคมีบำบัดควบคู่ เพื่อลดขนาดเซลล์มะเร็งก่อนการผ่าตัด
  • การบำบัดด้วยรังสี (Radiotherapy)ใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นสูงเพื่อลดขนาดเนื้องอกผ่านการฆ่าเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในช่วงการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสีอาจเป็นทางเลือกหลักในการรักษาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม
  • การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)การให้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านการกินหรือฉีดเข้าเส้นเลือดนอกจากนี้เคมีบำบัดยังสามารถใช้บรรเทาอาการปวดจากก้อนมะเร็ง
  • การรักษามะเร็งด้วยยาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) การรักษาด้วยยาแบบกำหนดเป้าหมายจะเน้นการทำให้เซลล์มะเร็งตาย โดยการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ โดยแพทย์จะทำการตรวจวิธีการกลายพันธุ์ของยีนก่อน
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)อาศัยหลักการใช้ภูมิคุ้มกันเพื่อจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกายผ่านการฉีดยาเพื่อเข้าไปขัดขวางกระบวนการผลิตโปรตีนที่เซลล์มะเร็งใช้ในการป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตี
  • การรักษาแบบผสมผสานและการจัดการกับความเจ็บปวด (Palliative care and pain management)เป็นรูปแบบการดูแลประคับประคองให้ผู้ป่วย มีสุขภาพจิตที่แข็งแรงหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและเข้ารับการรักษา จากงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งสามารถมีอายุกว่าถึง 3 เดือนหากได้รับกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้าง
ct-scan

การตรวจคัดกรอง และ ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง

  • จากตรวจเนื้อเยื่อ (Pathology diagnosis) โดยพยาธิแพทย์ (Pathologist)
  • ตรวจเอกซเรย์ หรือ CT scan (Computed tomography) ที่จะทำให้เห็นตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายได้อย่างแม่นยำกว่าเอ๊กซเรย์ทั่วไป
  • ในบางกรณี แพทย์สามารถตรวจหาเซลล์มะเร็งได้จากสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ  (Sputum cytology) น้ำในช่องท้อง (Ascites fluid cytology) น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural fluid cytology) ซึ่งในบางครั้งสามารถบอกที่มาและชนิดของเซลล์มะเร็งได้

  • การตรวจยีน เพราะความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งจากพันธุกรรม สามารถตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจยีน เช่น ยีนBRCA1 และ BRCA2 มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งมะเร็งเต้านม และ มะเร็งรังไข่ เป็นต้น

         ในปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นโดยการเจาะเลือด ทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor makers) เช่น  PSA (มะเร็งต่อมลูกหมาก), AFP (มะเร็งตับ), CEA (มะเร็งลำไส้), CA153 (มะเร็งเต้านม),  CA125 (มะเร็งรังไข่),  CA199 (มะเร็งตับอ่อนและท่อน้ำดี), NSE(Neuron Specific Enolase( มะเร็งปอด)ถึงเเม้จะยังเป็นวิธีการที่ไม่สามารถทดแทนการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคได้ เเต่วิธีการการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับวิธีการตรวจหามะเร็งวิธีการอื่นจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคมีความแม่นยำสูง เเละยังเป็นการตรวจเช็คความเสี่ยงและโอกาสเกิดมะเร็ง ที่เป็นประโยชน์ในการดูเเลสุขภาพในเชิงป้องกันได้ดี

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่น ๆ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ การตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากมะเร็งสูงขึ้นหรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงนั่นเอง

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่

การป้องกันโรคมะเร็ง

วิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มาก ๆ
  • ออกกำลังกายให้เหมาะสมและสม่ำเสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผ่อนคลายเเละไม่เครียด
  • หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
  • เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง/ การตรวจสุขภาพประจำปี สนใจตรวจ คลิกที่นี่
วิธีป้องกัน มะเร็ง - Cancer prevention

Reference:

  • นพ.สุดปรีดา ชัยนิธิกรรณ (อายรุแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา)
  • Thai Health Promotion Foundation. (2017, August 9). Cancer’s Risk factor. Retrieved from https://www.thaihealth.or.th/?p=255871
  • Institute National Cancer. (n.d.). Basic knowledge of cancer. Retrieved from http://www.nci.go.th/th/Knowledge/index_general.html

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ ได้ที่

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page