fbpx
Clostridium difficile

เชื้อ Clostridium difficile คืออะไร?

มาทำความรู้จักเชื้อ Clostridium difficile คืออะไร?

          เชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile หรือ Clostridiodes difficile (C. difficile หรือ C. diff) คือ แบคทีเรีย ก่อโรคชนิดหนึ่ง เป็น แบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นแท่ง เป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต (anaerobic gram-positive bacilli) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้

  • ผลิตสปอร์ที่ทนต่อความร้อนและกรด: ทำให้เชื้อคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน
  • ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงและลำไส้อักเสบได้
  • ติดต่อง่ายผ่านการกินหรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อน

การติดเชื้อ C.difficile สัมพันธ์กับ ยาปฏิชีวนะ อย่างไร?

          การติดเชื้อ แบคทีเรีย C. difficile มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะกลุ่มที่ออกฤทธิ์แบบกว้าง (broad-spectrum antibiotics) การได้รับยาปฏิชีวนะในระยะยาว จะส่งผลทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น  (normal flora) ในทางเดินอาหารลดลง ซึ่งแบคทีเรียประจำถิ่นเหล่านี้ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ C. difficile ทำให้เชื้อ C. difficile แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วสร้างสารพิษ (toxin) ที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดเป็นพังผืดของเยื่อบุทางเดินอาหาร (Pseudomembranous  colitis)ได้

Clostridium difficile

การติดต่อของเชื้อ C. difficile

เชื้อแบคทีเรีย C. difficile จะอยู่ในอุจจาระ ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านทาง

  • การสัมผัส
  • การปนเปื้อนในอาหาร
  • พื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้

          เชื้อ C. difficile นี้สามารถสร้างสปอร์ได้ ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 5 เดือน สามารถทนความร้อน ความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ยาปฏิชีวนะ และทนน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์

          ผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงเชื้อ C. difficile สามารถสร้างสปอร์ในระบบทางเดินอาหารได้แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการป่วย ในขณะที่ผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อสปอร์ผ่านกระเพาะอาหารลงไปจนถึงลำไส้ แล้วถูกกระตุ้นโดยกรดน้ำดี (bile acid) จะทำให้สปอร์งอกออกมาเป็นเชื้อได้ (vegetative cell) แล้วทำให้เกิดอาการป่วยตามมา

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ C. difficile

  • ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เเละนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • อายุมากขึ้น : ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • การรับประทานยาลดกรด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ลำไส้อักเสบ มะเร็ง เบาหวาน หรือโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์

อาการเมื่อติดเชื้อ C. difficile

  • ท้องเสีย อาจถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปนมูกและอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้
  • ไข้สูง
  • ปวดท้องบริเวณด้านล่างหรือปวดทั่วท้อง หรือเป็นตะคริวที่ท้อง
  • ท้องอืด
  • คลื่นไส้
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่มีอาการแต่จะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อได้

การป้องกันการติดเชื้อ C. difficile

  • ล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี เช่น ก่อนเเละหลังอาหาร ก่อนเเละหลังเข้าห้องน้ำ หรือการสัมผัสผิวหรือสิ่งของสาธารณะ : เพราะการล้างมือจะช่วยชะล้างเชื้อ C. difficile และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้

  • จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะ และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของแพทย์

  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

การป้องกันการติดเชื้อ C. difficile​ - Prevention of C. difficile infection involves

อ้างอิง

1.Cohen SH, Gerding DN, Johnson S, Kelly CP, Loo VG, McDonald LC, et al. Clinical practice guidelines for Clostridium difficile infection in adults: 2010 update by the society for healthcare epidemiology of America (SHEA) and the infectious diseases society of America (IDSA). Infect Control Hosp Epidemiol 2010;31:431-55.

2.Debast SB, Bauer MP, Kuijper EJ. European Society of Clinical Microbiology and Infectious Diseases: update of the treatment guidance document for Clostridium difficile infection. Clin Microbiol Infect 2014;20 Suppl 2:1-26.

3.Issarachaikull R, Khantipong M, Sawatpanich A, Suankratay C. PROSPECTIVE EVALUATION OF A NOVEL TWO-STEP PROTOCOL FOR SCREENING OF CLOSTRIDIUM DIFFICILE INFECTION IN HOSPITALIZED ADULT PATIENTS. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2015;46:1037-48.

4.Leffler DA, Lamont JT. Clostridium difficile Infection. N Engl J Med 2015;373:287-8.

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ ได้ที่

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page