การกินอาหารลดความอ้วนแบบ โลว์คาร์บ (Low-carb) คือการจำกัดการกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต หรือคาร์บ ให้น้อยลง เนื่องจากการกินคาร์โบไฮเดรต อย่างข้าว แป้ง เส้น และน้ำตาลในปริมาณมาก จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งน้ำตาลส่วนเกินก็จะถูกเก็บไปสะสมเป็นไขมัน(Triglyceride)ในท้ายที่สุด การลดการกินคาร์บจึงเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดการสะสมไขมัน และกระตุ้นการสลายไขมันสะสมออกมาใช้ รวมถึงยังลดโอกาสเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน(Insulin Resistant)ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคอ้วน หรือทำให้คนที่เป็นโรคเหล่านี้อยู่แล้วมีอาการแย่ลงได้
การกิน Low carb มีวิธีอย่างไร
- จำกัดอาหารแป้งและน้ำตาลวันละไม่เกิน 50-100 กรัม โดยงด ข้าวแป้ง น้ำตาล คาร์โบไฮเดรตลง
- รับประทานอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อวัว หมู ปลา ไก่ ไข่ อาหารทะเล และถั่วประมาณ 1.5-2.0 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวันขึ้นกับน้ำหนักตัว
- รับประทานผักก้าน ผักใบ ฟักขาว (ฟักจีน) แตงกวา ฯลฯ ได้ไม่จำกัด แต่ควรหลีกเลี่ยงพืชผักที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น เผือก ฟักทอง รวมทั้งหัวไชเท้า แครอท และจำกัดการทานผลไม้ทุกชนิดทั้งหวานและไม่หวาน
- งดทานขนมหวาน เบเกอรี่ต่างๆ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสม แอลกอฮออล์ทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เนื่องจากเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เนย เนยขาว มาการีน
การรับประทานอาหารพร่องแป้ง จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1 ระยะเริ่มต้น (14วันแรก) ให้จำกัดอาหารคาร์โบไฮเดรตเหลือ 20 กรัมต่อวัน ได้แก่ งดข้าว แป้งน้ำตาล งดผลไม้ กินแต่เนื้อสัตว์ ไข่ นม และผักใบเขียว เพื่อให้ร่างกายใช้อาหารไขมันและโปรตีนแทนคาร์โบไฮเดรต ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่น้ำหนักลดได้มากที่สุดและเร็วที่สุด
ช่วงที่ 2 เพิ่มการทานคาร์โบไฮเดรตขึ้นทีละเล็กน้อยครั้งละ 5-10 กรัม จนถึง 50 กรัมต่อวัน โดยเพิ่มการทานอาหารพวกถั่วเปลือกแข็ง (เช่น อัลมอนด์ พิตาชิโอฯลฯ) ผัก ผลไม้บ้าง ในช่วงนี้น้ำหนักยังคงลงต่อไปเรื่อยๆ
ช่วงที่ 3 ช่วงที่ลดน้ำหนักได้แล้ว อาจค่อย ๆ เพิ่มการทานอาหารแป้งและน้ำตาลมากขึ้น จาก 50 กรัม ทีละ 5-10 กรัม จนถึงระดับ 80 กรัม โดยพยายามรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ ควรเน้นทานเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญพืช
ช่วงที่ 4 ช่วงที่รักษาน้ำหนักให้คงที่ได้แล้ว สามารถทานอาหารได้หลากหลาย แต่ต้องคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตในแต่ละวันเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวขึ้น

กลุ่มอาหาร Low Carb ที่สามารถทานได้
คืออาหารที่สามารถกินเยอะได้โดยไม่ต้องจำกัดปริมาณ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นอาหารที่ไม่มีคาร์โบไฮเดรต หรือมีคาร์บเป็นส่วนประกอบอยู่น้อยมาก เช่น
- ผักไร้แป้ง หรือมีแป้งต่ำมาก เช่น ผักใบเขียวทุกชนิด มะเขือเทศ พริกหยวก เห็ด แตงกวา
- ผลไม้น้ำตาลต่ำ เช่น ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง อะโวคาโด และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
- เนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการแปรรูป รวมถึงอาหารทะเลและไข่
- ถั่วเมล็ดแข็งและธัญพืชที่มีโปรตีนสูง เช่น อัลมอนด์ วอลนัท งา เมล็ดทานตะวัน เมล็ดเจีย
- น้ำมันและไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอะโวคาโด
กลุ่มอาหารที่กินได้บ้าง
หรือกินได้เป็นครั้งคราว แต่ควรจำกัดปริมาณไม่ให้มากเกินไป ได้แก่อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตอยู่ปานกลาง หรือเป็นคาร์บเชิงซ้อน เช่น
- ข้าวและแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง เส้นโฮลวีท เส้นบุก ขนมปังโฮลวีท ควินัว
- ผักที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ฟักทอง แครอท มันฝรั่ง มันหวาน เผือก
- ผลไม้ที่มีน้ำตาลปานกลาง เช่น แอปเปิล มะม่วงดิบ มะละกอ กล้วยหอม สับปะรด พรุน
- ถั่วเมล็ดแห้งและธัญพืช เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วขาว ถั่วลิสง ลูกเดือย
- ผลิตภัณฑ์จากนมเต็มมันเนยรสธรรมชาติที่มีคาร์โบไฮเดรตค่อนข้างสูง เช่น นม เนย ชีส โยเกิร์ต
กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
หรือควรกินให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ ได้แก่อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง รวมถึงเป็นคาร์บ เช่น
- ข้าวและแป้งที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว เส้นพาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังขาว บิสกิต แคร็กเกอร์
- ขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว ลูกอมและเบเกอรี่ทุกชนิด
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกชนิด เช่น ชา-กาแฟใส่น้ำตาล น้ำอัดลม
- ผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง-สูงมาก เช่น ทุเรียน ขนุน มะม่วงสุก
- อาหารแปรรูป (processed foods) เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน รวมถึงอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง
- ผลิตภัณฑ์จากนมพร่องมันเนย ซึ่งนอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรตสูงแล้ว ยังมีไขมันที่จำเป็นอยู่น้อย เช่น นมและโยเกิร์ต low-fat รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่เติมแต่งรสชาติทุกชนิดด้วย

ควรตรวจเช็คสุขภาพจากเลือดก่อนเริ่มทำ Low-Carb เพื่อให้เหมาะสม
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด :FBS
- น้ำตาลสะสม : HbA1c
- การทำงารของตับอ่อน :Insulin level
- ตรวจการทำงานของตับ : AST,ALT
- ตรวจการทำงานของไต : BUN , Creatinine eGFR
- ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด : Lipid Profile (Cholesteral Triglyceride HDL,LDL)