Clostridium difficile

เชื้อ Clostridium difficile คืออะไร?

มาทำความรู้จักเชื้อ Clostridium difficile คืออะไร?

          เชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile หรือ Clostridiodes difficile (C. difficile หรือ C. diff) คือ แบคทีเรีย ก่อโรคชนิดหนึ่ง เป็น แบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างเป็นแท่ง เป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต (anaerobic gram-positive bacilli) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้

  • ผลิตสปอร์ที่ทนต่อความร้อนและกรด: ทำให้เชื้อคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน
  • ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงและลำไส้อักเสบได้
  • ติดต่อง่ายผ่านการกินหรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อน

การติดเชื้อ C.difficile สัมพันธ์กับ ยาปฏิชีวนะ อย่างไร?

          การติดเชื้อ แบคทีเรีย C. difficile มีความสัมพันธ์กับการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะกลุ่มที่ออกฤทธิ์แบบกว้าง (broad-spectrum antibiotics) การได้รับยาปฏิชีวนะในระยะยาว จะส่งผลทำให้เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น  (normal flora) ในทางเดินอาหารลดลง ซึ่งแบคทีเรียประจำถิ่นเหล่านี้ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ C. difficile ทำให้เชื้อ C. difficile แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วสร้างสารพิษ (toxin) ที่ทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดเป็นพังผืดของเยื่อบุทางเดินอาหาร (Pseudomembranous  colitis)ได้

Clostridium difficile

การติดต่อของเชื้อ C. difficile

เชื้อแบคทีเรีย C. difficile จะอยู่ในอุจจาระ ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านทาง

  • การสัมผัส
  • การปนเปื้อนในอาหาร
  • พื้นผิวที่มีการปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้

          เชื้อ C. difficile นี้สามารถสร้างสปอร์ได้ ซึ่งสปอร์ของเชื้อมีความทนทาน อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 5 เดือน สามารถทนความร้อน ความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ยาปฏิชีวนะ และทนน้ำยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยแอลกอฮอล์

          ผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงเชื้อ C. difficile สามารถสร้างสปอร์ในระบบทางเดินอาหารได้แต่จะไม่ทำให้เกิดอาการป่วย ในขณะที่ผู้ที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อสปอร์ผ่านกระเพาะอาหารลงไปจนถึงลำไส้ แล้วถูกกระตุ้นโดยกรดน้ำดี (bile acid) จะทำให้สปอร์งอกออกมาเป็นเชื้อได้ (vegetative cell) แล้วทำให้เกิดอาการป่วยตามมา

ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ C. difficile

  • ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เเละนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • อายุมากขึ้น : ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • การรับประทานยาลดกรด
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ลำไส้อักเสบ มะเร็ง เบาหวาน หรือโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์

อาการเมื่อติดเชื้อ C. difficile

  • ท้องเสีย อาจถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปนมูกและอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้
  • ไข้สูง
  • ปวดท้องบริเวณด้านล่างหรือปวดทั่วท้อง หรือเป็นตะคริวที่ท้อง
  • ท้องอืด
  • คลื่นไส้
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง อาจไม่มีอาการแต่จะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อได้

การป้องกันการติดเชื้อ C. difficile

  • ล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี เช่น ก่อนเเละหลังอาหาร ก่อนเเละหลังเข้าห้องน้ำ หรือการสัมผัสผิวหรือสิ่งของสาธารณะ : เพราะการล้างมือจะช่วยชะล้างเชื้อ C. difficile และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้

  • จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะ และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของแพทย์

  • รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

การป้องกันการติดเชื้อ C. difficile​ - Prevention of C. difficile infection involves

อ้างอิง

1.Cohen SH, Gerding DN, Johnson S, Kelly CP, Loo VG, McDonald LC, et al. Clinical practice guidelines for Clostridium difficile infection in adults: 2010 update by the society for healthcare epidemiology of America (SHEA) and the infectious diseases society of America (IDSA). Infect Control Hosp Epidemiol 2010;31:431-55.

2.Debast SB, Bauer MP, Kuijper EJ. European Society of Clinical Microbiology and Infectious Diseases: update of the treatment guidance document for Clostridium difficile infection. Clin Microbiol Infect 2014;20 Suppl 2:1-26.

3.Issarachaikull R, Khantipong M, Sawatpanich A, Suankratay C. PROSPECTIVE EVALUATION OF A NOVEL TWO-STEP PROTOCOL FOR SCREENING OF CLOSTRIDIUM DIFFICILE INFECTION IN HOSPITALIZED ADULT PATIENTS. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2015;46:1037-48.

4.Leffler DA, Lamont JT. Clostridium difficile Infection. N Engl J Med 2015;373:287-8.

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page