มาทำความรู้จัก ฮอร์โมน อินซูลิน กันก่อน อินซูลินคือฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อนทำหน้าที่นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานสำหรับการทำงาน การทำกิจกรรมต่างๆ ของร่างกาย ที่เหลือส่วนเกินจะสะสมในรูปของไกลโคเจนและไขมันเพื่อเป็นพลังงานสำรอง ภาวะดื้ออินซูลิน เนื่องจากมีการสร้างน้อยลง หรือสร้างได้ตามปกติแต่ทำงานของอินซูลินไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งพบได้ในคนที่มีนำหนักเกิน โรคอ้วน คนที่มีไขมันสูงสะสมโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องจะเสี่ยงต่อการที่จะมีภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้น้ำตาลก็จะตกค้างอยู่ที่กระแสเลือดระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2
ภาวะดื้อ อินซูลิน คืออะไร?
ภาวะดื้อ อินซูลิน (Insulin Resistance) เป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองกับอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้การนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ไม่ดี น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 โดยทั้งนี้เมื่อเซลล์ตอบสนองกับอินซูลินได้น้อยลง กลไกร่างกายจะมีการกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้เซลล์สามารถดึงอินซูลินไปใช้ในการดึงกลูโคส หรือน้ำตาลในเลือดได้อย่างเพียงพอและปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนส่วนมาก โดยเฉพาะคนเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินตรวจไม่พบค่าน้ำตาลในเลือดสูง แต่ทั้งนี้หากปล่อยให้กลไกนี้กระตุ้นให้ตับอ่อนทำงานหนัก เพื่อผลิตอินซูลินให้เพิ่มขึ้นนานๆ ในการรักษาสมดุลน้ำตาลในเลือด ตับอ่อนก็จะเสื่อมสภาพจนผลิตอินซูลินได้น้อยลง เมื่อนั้นความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานก็จะตามมาทันที
อาการของภาวะดื้อ อินซูลิน
ผู้ที่มีภาวะดื้ออินซูลินอาจไม่มีอาการที่สังเกตได้ชัดเจน จึงไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะดื้ออินซูลิน แต่อาจทราบภายหลังจากที่เป็นโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 แล้ว หรือทราบจากการตรวจเลือดที่พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนถึงระดับการเป็นเบาหวานไปแล้ว โดยอาการทั่วไปของโรคเบาหวานที่พบได้ เช่น
- หิวบ่อย โดยอาจหิวระหว่างมื้ออาหาร หรือกระหายน้ำมากผิดปกติ
- ปัสสาวะบ่อยหรือมากผิดปกติ
- อ่อนเพลียผิดปกติ
- ตามัว
- มื้อเท้าชา
- อาการทางผิวหนัง เช่น เกิดติ่งเนื้อ (Skin Tags) และโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) คือผิวหนังเป็นปื้นดำหนาและขรุขระ มักพบบริเวณหลังคอ รักแร้ และขาหนีบ
หลายคนสงสัยว่าเรากำลังมีปัญหาดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินหรือไม่ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ได้แก่
- มีน้ำหนักตัวที่มากขึ้น หรือ อ้วนขึ้น หรือ ไขมันในช่องท้องมากขึ้น (Visceral Fat)
- มีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง / น้ำตาลสะสมสูง
- มีค่าไตรกลีเซอไรด์ขณะงดอาหารอย่างน้อย 10 ชม.ในเลือดสูง
- HDL cholesterol ต่ำ
- LDL cholesterol สูง
- มีโรคอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เช่น Fatty Liver สตรีวัยหลังหมดประจำเดือนมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ภาวะดื้อ อินซูลิน ตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร?
1. ตรวจเลือดดูระดับอินซูลินในระยะอดอาหาร (Fasting Insulin ) อย่างน้อย 10-12 ชม.
ซึ่งจะบอกได้เฉพาะการดื้ออินซูลินที่ตับเท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกการดื้ออินสุลินที่กล้ามเนื้อได้ แต่ก็สามารถอนุมานได้ว่าร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินหากมีระดับที่สูงมาก ร่วมกับการประเมินข้อมูลสุขภาพอื่นๆ
2. การหาค่า Homeostasis Model Assessment for Insulin Resistance (HOMA-IR)
สามารถวัดได้ทั้งภาวะดื้อต่ออินซูลิน (HOMA-IR) และ การหลั่งอินซูลิน (HOMA-Beta) ได้พร้อมกัน โดยใช้ค่าระดับอินซูลินและน้ำตาลกลูโคสในระยะอดอาหารอย่างน้อย 8 ชม.
การคำนวณ HOMA-IR Score โดยใช้สูตรนี้ (Glucose x Insulin)/405
หากได้ค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 2.0 ขึ้นไป จะบ่งชี้ว่าอาจจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินนั่นเอง หากตรวจออกมาได้ค่าสูงเกิน 2.0 ควรตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไปอีก เช่น Oral Glucose Tolerance Test (75 gm OGTT)
การป้องกันภาวะดื้อต่อ อินซูลิน
- ควบคุมปริมาณพลังงาน และชนิดของอาหารในแต่ละวันให้เหมาะสม สมดุลกันโดยเฉพาะอาหาร ประเภทคาร์โบไฮเดรต งดอาหารและเครื่องดื่มที่มี น้ำตาล ไขมันสูง อาทิเช่น กาแฟ ชานมเย็น ชานมไข่มุก น้ำอัดลม รวมถึงแป้งแปรรูป กลุ่มเบเกอรี่ ขนมกรุบกรอบ แป้งที่นำมาทอด เช่น กะหรี่พัฟ ปาท่องโก๋ ข้าวเม่า เป็นต้น
- การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม BMI <23 Kg/m2
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อครั้ง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
การตรวจสุขภาพหรือตรวจสุขภาพประจำปี นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน ห่างไกลจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดสมองแตก โรคไต โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์