ไขมันพอกตับ - fatty liver

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบสู่โรคร้าย…

ไขมันพอกตับ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอ้วนเท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่ดีสูง ไม่ทานผักผลไม้และที่สำคัญไม่ได้ออกกำลังกาย เพราะการใช้ชีวิตของคนสมัยนี้เต็มไปด้วยความเร่งรีบและเวลาที่จำกัด ทำให้คนหัดมาบริโภคอาหารแปรรูปอาหารจานด่วนมากขึ้นแต่ใครจะไปรู้ภัยเงียบจากอาหารที่เราเลือกบริโภคจะส่งผลให้เราเกิดโรคได้ แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงคือคนที่อ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ผู้ตรวจพบโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูงและความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปถึง 60% โดยส่วนใหญ่โรคไขมันพอกตับจะไม่ค่อยแสดงอาการ

ภาวะไขมันพอกตับคืออะไร?

ไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คือภาวะที่ไขมัน โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ เข้าไปแทรก และมีการสะสมขึ้นภายในของตับ ซึ่งหากสะสมมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ จะถือว่าเป็นภาวะ ไขมันพอกตับ เป็นสาเหตุทำให้เกิดเป็น ตับอักเสบ หรือทำให้เกิดเป็นพังผืดขึ้นภายในตับ และใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถลุกลามกลายเป็นเป็นโรค ตับแข็ง และต่อเนื่องเป็น มะเร็งตับ ได้ในที่สุด ดังนั้นไขมันพอกตับจึงเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม มาดูว่าไขมันพอกตับเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง มีอาการอย่างไร และวิธีการป้องกัน

ไขมันพอกตับ มีกี่ระยะ?

ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะการสะสมไขมันในตับ ยังไม่มีอาการหรือการอักเสบเกิดขึ้นในตับ
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีการอักเสบของตับ เซลล์ตับได้รับความเสียหาย ค่าการทำงานของตับจากผลเลือดผิดปกติและหากปล่อยไว้นานมากกว่า 6 เดือนจะส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีพังผืดภายในเนื้อตับและเส้นเลือดในตับในระยะนี้ตับยังสามารถทำงานได้ปกติ หากได้รับการรักษาที่สาเหตุ ก็จะสามารถหยุดการดำเนินโรคต่อไปได้
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะตับแข็ง เนื่องจากตับได้รับความเสียหายถาวร เกิดเป็นพังผืดทั่วทั้งตับและกลายเป็นตับแข็ง และอาจจะนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับได้

สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ

โรคไขมันพอกตับเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ

  1. ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol fatty liver disease) เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
  2. ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ Non-alcohol related fatty liver disease (NAFLD) (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โรคอ้วนลงพุง(ไตรกลีเซอร์ไรด์ สูงในเลือด),โรคเบาหวานชนิดที่2,โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันพอกตับ

1. กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ซึ่งประกอบไปด้วย

  • รอบเอวที่เกิน 90 ซม. ในผู้หญิง
  • รอบเอวที่เกิน 100 ซม. ในผู้ชาย
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ระดับไขมันดี แอชดีแอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง
  • น้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

2. โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคไขมันสูง

3. การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงเป็นประจำ เช่น ไขมัน น้ำตาล แป้ง

4. สตรีวัยหมดประจำเดือน

5. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัสบางชนิด

สังเกตอาการเตือนโรคตับ

  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • ผิวเหลือง ตาเหลือง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • ท้องอืด เหมือนมีแก๊สในกระเพาะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกปวดใต้ชายโครงขวา

ไม่อยากเป็น “ตับแข็ง” หรือ “ไขมันพอกตับ” ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • เลิกสูบบุหรี่ หรือไม่อยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
  • เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง (High Fat) เช่น นม เนย ชีส กะทิ อาหารทะเล
  • เน้นทานไขมันที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เช่น น้ำมันมะกอก(Olive Oil) อะโวคาโด(Avocado) น้ำมันปลาโอเมก้า3
    (Omega3Fish Oil)
  • เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้สด
  • ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 160 นาที
  • ระวังเรื่องน้ำหนักตัวอย่าให้เกินมาตรฐาน
  • ขับถ่ายเป็นประจำ ระวังอย่าให้ท้องผูก
  • หากมียาที่ต้องกินประจำควรปรึกษาแพทย์
  • รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ให้อยู่ในภาวะที่ปกติที่สุด

การวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับสำหรับห้องปฏิบัติการ

1.การตรวจไขมันในเลือด(Lipid profile)

  • Total cholesterol , HDL, LDL, Triglycerides

2.ตรวจดูค่าการทำงานของตับ(Liver function)

  • AST,ALT

3.ตรวจสารบ่งชี้มะเร็งตับ AFP

4.การตรวจกรองพังผืดในตับ

  • Apolipoprotein
  • Total bilirubin
  • GGT
  • Alpha2-Macroglobulin
  • Haptoglobin

5.ตรวจสุขภาพประจำปี

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page