ถุงน้ำดีอักเสบ - cholecystitis

โรค ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นอย่างไร?

ประชากรโลกประมาณ 15% มีนิ่วในถุงน้ำดี และประมาณ 20% จะมีภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งรวมถึง ถุงน้ำดีอักเสบ ด้วย นิ่วในถุงน้ำดีเป็นสาเหตุของการเกิดถุงน้ำดีอักเสบถึง 95%

โรค ถุงน้ำดีอักเสบ คืออะไร?

โรคถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) คือโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดอาการอักเสบที่บริเวณถุงน้ำดี (gallbladder) อวัยวะทรงลูกแพร์บริเวณข้างใต้ตับ ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บน้ำดี ซึ่งเป็นของเหลวที่ตับผลิตขึ้น โดยน้ำดีจะถูกส่งผ่านทางท่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก และไหลเข้าสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อช่วยในการย่อยอาหารจำพวกไขมัน ผู้ป่วยโรคถุงน้ำดีอักเสบมักมีอาการปวดบริเวณใต้กระดูกซี่โครงข้างขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของถุงน้ำดี อาการอักเสบนี้มักเกิดขึ้นจากการปรากฎขึ้นของนิ่ว เนื้องอก หรือสิ่งกีดขวางอื่นที่เข้าไปกีดขวางในท่อน้ำดีใหญ่ (bile duct) หรือ ท่อถุงน้ำดี (cystic duct)

สาเหตุหลักของ ถุงน้ำดีอักเสบ

สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  1. ถุงน้ำดีอักเสบจากนิ่ว เป็นสาเหตุของโรคถุงน้ำดีอักเสบที่พบมากถึง 95% อาจเกิดจากก้อนนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) หรือตะกอนของถุงน้ำดี (Biliary Sludge) ไปอุดตันทางออกถุงน้ำดี (Cystic Duct) จนทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบเป็นหนอง  เกิดเนื้อตายเน่าท่อน้ำดีติดเชื้อหรือติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งร้ายแรงอาจถึงชีวิตได้
  2. ถุงน้ำดีอักเสบจากสาเหตุอื่น พบได้ประมาณ 5% เช่น ถุงน้ำดีได้รับอุบัติเหตุฉีกขาด ถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีเกิดเนื้องอก ท่อน้ำดีตีบตันจากพังผืด การทำงานที่ผิดปกติของถุงน้ำดีในผู้ป่วย ICU ผู้ป่วยสูงอายุที่มีเส้นเลือดเสื่อม ติดเชื้อ หรือได้รับอาหารทางเส้นเลือดนาน ๆ เป็นต้น

อาการของโรค ถุงน้ำดีอักเสบ

  • อาการปวดบริเวณช่องท้องทางด้านขวาที่เป็นตำแหน่งของถุงน้ำดี มักเป็นอาการที่พบได้บ่อย
  • อาการปวดบริเวณกลางช่องท้อง (บางครั้ง)หรือลามไปที่หลังและหัวไหล่ขวาร่วมด้วย
  • อาจมีอาการไข้ หรือกดเจ็บในบริเวณตำแหน่งของถุงน้ำดี (ผู้ป่วยบางราย)
  • อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย(ผู้ป่วยบางราย)

โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นหลังมื้ออาหาร โดยเฉพาะภายหลังการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงในปริมาณมาก

Gallbladder - ถุงน้ำดี

โรคถุงน้ำดีอักเสบมี 2 ประเภท คือ

  • โรคถุงน้ำดีอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute cholecystitis) คือถุงน้ำดีเกิดอักเสบขึ้นทันทีทันใด มักมีอาการรุนแรง แน่นท้อง ท้องเฟ้อ เจ็บ/ปวดลึกๆ ใต้ชายโครงขวาและจะเจ็บมากเมื่อกดบริเวณนี้ อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น ส่วนใหญ่จะมีไข้ต่ำ แต่บางรายอาจมีไข้สูงได้เหมือนกัน เมื่อเป็นมากขึ้นก็จะตาเหลืองตัวเหลือง อุจจาระสีซีด และปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หากถุงน้ำดีแตก จะมีไข้สูง หน้าท้องแข็ง เจ็บทุกส่วนของช่องท้องเพราะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ โดยทั่วไปโรคถุงน้ำดีอักเสบรักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าพบแพทย์ช้าเกินไป ถุงน้ำดีเน่าตายหรือทะลุแล้ว อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในช่องท้อง ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ 5-50% ขึ้นอยู่สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อายุ ความรุนแรงของการติดเชื้อ และภาวะเชื้อดื้อยา
  • โรคถุงน้ำดีอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Cholecystitis) :อาการจะไม่รุนแรง แต่จะเกิดการอักเสบซ้ำบ่อยๆ อาการอักเสบดังกล่าวก็ไม่ชัดเจนนัก มักมีเพียงอาการเจ็บใต้ชายโครงขวา แต่เจ็บไม่มาก รวมถึงมีท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำเมื่อกินอาหารมันๆ แต่หากเกิดการติดเชื้อเฉียบพลันซ้ำซ้อนขึ้นมาก็จะทำให้กลายเป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบรุนแรงเหมือนชนิดเฉียบพลันได้เช่นกัน

การรักษาก่อนสาย

โดยทั่วไปถุงน้ำดีอักเสบเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการภายใน 1 สัปดาห์แพทย์มักจะแนะนำทำการผ่าตัด แต่หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน เกิดถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะหรือเจาะถุงน้ำดีใส่สายระบายการติดเชื้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการมานานกว่า 1 สัปดาห์และมีการตอบสนองต่อยาดีจึงทำการผ่าตัดต่อไปใน 6 – 12 สัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาหรือมีการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือถุงน้ำดีเป็นหนองและมีเนื้อตายอาจต้องตัดสินใจผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

การทดสอบเพื่อวินิจฉัยถุงน้ำดีอักเสบทางห้องปฏิบัติการ

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC)
  • การทดสอบ การทำงานของตับ(Liver function)

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page