fbpx
H. Pylori

H. Pylori ต้นเหตุเเผลในกระเพาะอาหาร

ตรวจเชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) ต้นเหตุเเผลในกระเพาะอาหาร

          เคยมีอาการ เเบบนี้ไหม?: อาการ ปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด และด้วยคิดว่าคงเป็นแค่อาการของโรคกระเพาะธรรมดาๆ จึงไม่ได้กังวลมากนัก กินยาไปสักพักก็น่าจะดีขึ้นได้… แต่บางรายที่เป็นมานาน กินยาโรคกระเพาะแล้วไม่ดีขึ้น แบบนี้อย่านิ่งนอนใจ! เพราะอาการเหล่านั้นอาจมาจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “เอชไพโลไร” (H. Pylori) หากไม่รีบรักษา อาจลุกลามจนเลยคำว่า แค่โรคกระเพาะอาหาร!!! ก็เป็นได้

เชื้อเอชไพโลไร (H. Pylori) คืออะไร?

เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) หรือเรียกสั้นๆ ว่า เอชไพโลไร (H. Pylori) เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร แต่ไม่ก่ออันตราย เว้นแต่บางกรณีที่อาจมีการติดเชื้อแบบเฉียบพลันหรือในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในที่สุด

ติดเชื้อเอชไพโลไร…มีอาการแบบไหน???

การติดเชื้อ เอชไพโลไร ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใดๆ แต่บางรายอาจมีอาการระคายเคืองหรือการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร จนทำให้มีอาการต่างๆ ดังนี้

  • ปวดท้องเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ปวดหรือแสบร้อนที่ท้องส่วนบนบริเวณเหนือสะดือ และจะยิ่งปวดรุนแรงเมื่อท้องว่าง หรือหลังรับประทานอาหาร
  • ท้องอืด เรอบ่อย
  • คลื่นไส้
  • อาเจียนเป็นเลือด หรืออาเจียนมีสีน้ำตาลคล้ำ
  • อุจจาระเป็นเลือด ลักษณะของอุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นเหม็นรุนแรง

หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัยอย่างละเอียด และรีบรักษาก่อนอาการลุกลามรุนแรง

อาการติดเชื้อเอชไพโลไร - Symptoms of Helicobacter Pylori Infection

ติดเชื้อเอชไพโลไร…จากไหนได้บ้าง?

          การติดเชื้อ เอชไพโลไร นั้นยังระบุแน่ชัดไม่ได้ แต่เชื้อนี้สามารถการถ่ายทอดจากคนสู่คน จึงมีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการสัมผัสเชื้อและนำเข้าปากโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการบริโภคอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อ และจะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นหากอยู่ใกล้ชิดหรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ที่มีเชื้อเอชไพโลไร หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสุขลักษณะไม่ดี

ตรวจให้มั่นใจ..ว่าใช่ “เอชไพโลไร” หรือไม่???

          เมื่ออาการหลายๆ อย่างที่เป็นยังระบุแน่ชัดไม่ได้ว่าเกิดจากการติดเชื้อเอชไพโลไรหรือไม่ ดังนั้น ถ้ามี อาการน่าสงสัย ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและทำการรักษาอย่างตรงจุด ซึ่งทำได้โดย

  • การตรวจเลือด : ตรวจสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อ
  • การตรวจอุจจาระ : การเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติเจน ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อ
  • การส่องกล้อง แพทย์จะสอดอุปกรณ์ที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่บริเวณส่วนปลายเข้าไปทางปากเพื่อตรวจดูความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ในบางกรณีอาจมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในช่องท้องเพื่อนำมาตรวจหาเชื้อร่วมด้วย
  • ตรวจหาเชื้อเอชไพโรไล ด้วยการ ตรวจทางลมหายใจ หรือ Urea Breath Test
ส่องกล้องไมโครสโคปหาเชื้อ เอชไพโลไร - Microscope examination for detecting Helicobacter pylori

ติดเชื้อ เอชไพโลไร … รักษาได้

          เมื่อมีการติดเชื้อเอชไพโลไร สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ยาปฏิชีวนะ

  • แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะสูตรเฉพาะ โดยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของยาและผู้ป่วยแต่ละราย
  • ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หรือแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ วันละ 5-6 มื้อ เพื่อไม่ให้ท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ด้วย

          ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้

          หลังการรักษา แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจหาเชื้อซ้ำภายในเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์เพื่อติดตามผลการรักษา หากพบว่ายังมีการติดเชื้ออยู่ ผู้ป่วยจะต้องรักษาซ้ำโดยเปลี่ยนยา เพราะมีความเป็นไปได้ว่าเชื้ออาจดื้อยา

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการติดเชื้อ เอชไพโลไร?

          การติดเชื้อ เอชไพโลไร ส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว แผลอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น

  • ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะอาหารส่งผลให้มีเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหาร และอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุด
  • กระเพาะอาหารทะลุ แผลจากการติดเชื้อในกระเพาะอาหารที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดการทะลุของกระเพาะอาหารตามมา จะมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้า ท้องแข็งตึง เมื่อกดบริเวณท้องจะรู้สึกเจ็บมาก
  • กระเพาะอาหารอุดตัน ทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารได้ จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว อาเจียน เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด
  • โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร การติดเชื้อเอชไพโลไร เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

รู้วิธีป้องกัน…ก่อนติดเชื้อ เอชไพโลไร

หลีกเลี่ยงความเสี่ยงและลดพฤติกรรมที่อาจกระตุ้นให้เกิด แผลในกระเพาะอาหาร

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนจัดเตรียม และก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด รวมทั้งอาหารไม่สุก
  • ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัด งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
  • ผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยง แผลในกระเพาะอาหาร - Preventative Measures

“เชื้อ เอชไพโลไร” ไม่ใช่แค่ทำให้เป็น โรคกระเพาะ เท่านั้น เพราะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ฉะนั้นหากตรวจพบ “เชื้อเอชไพโลไร” ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์เฉพาะทาง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

เพราะหากไม่รีบรักษา… อาการปวดท้อง …อาจไม่ใช่ “แค่” ปวดท้อง ธรรมดา

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ ได้ที่

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page