ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งน้ำหนักขึ้นง่าย สิวไม่หาย ลำไส้แปรปรวน มีอาการอักเสบของผิวหนัง และอาการอื่นๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้น อาจมีสาเหตุมาจากภาวะ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยหนึ่งในสาเหตุอาจมาจาก
- พฤติกรรมการรับประทานอาหารเดิมซ้ำเป็นประจำ
- กลุ่มอาหารแปรรูป
- ทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง
จนส่งผลต่อความสมดุลภายในร่างกายรวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน ระบบเผาผลาญ และเป็นสาเหตุก่อโรคเรื้อรังอันตรายตามมาได้
ภาวะ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) คืออะไร?
โรคลำไส้รั่ว คือ ภาวะที่ลำไส้ดูดซึมผิดปกติ เยื่อบุผนังลำไส้ (Microvilli) ทำงานผิดปกติ เนื่องด้วยในคนปกตินั้น เซลล์เยื่อบุผนังลำไส้จะเรียงตัวชิดติดกันเป็นระเบียบเพื่อทำหน้าที่คัดกรองและควบคุมสารพิษ หรือเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง
แต่เมื่อเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้เกิดการอักเสบ เซลล์จึงไม่สามารถเรียงตัวชิด กันแน่นและจะขาดออกจากกัน เกิดเป็นช่องว่างระหว่างเซลล์ ส่งผลให้สารพิษ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อราเชื้อยีสต์ สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เล็ดลอดผ่านช่องว่างเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือดโดยไม่ผ่านการกรอง เมื่อลำไส้สูญเสียความสามารถในการควบคุมการเข้าออกของสาร ยอมให้สิ่งผิดปกติผ่านเข้าออกผนังลำไส้ได้โดยง่าย ทางการแพทย์จึงเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะลำไส้รั่ว” (Leaky Gut Syndrome) เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่กระแสเลือด ร่างกายจึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน จนเกิดการอักเสบเรื้อรังซ้ำซาก กลายเป็นโรคและอาการเจ็บป่วยตามมา
สาเหตุที่ทำให้ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) ที่พบบ่อย ได้แก่
- ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบต่างๆ ยากลุ่มนี้จะมีผลต่อความแข็งแรงของเยื่อบุในผนังทางเดินอาหาร และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วได้หากใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนาน
- ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ โดยในลำไส้จะแข็งแรงได้นอกจากผนังของลำไส้แล้ว ยังมีเรื่องสายพันธุ์ของแบคทีเรียหรือสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายอยู่ด้วย เมื่อเรากินยายาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อไปบ่อยๆ หรือกินมากๆ แล้วไม่ได้เติมเต็มแบคทีเรียตัวดีเข้าไปทดแทน จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้าย หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น เชื้อรา หรือ แบคทีเรียตัวอื่นที่ร่างกายไม่ต้องการเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ได้
- ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับไม่เพียงพอ
- ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง การรับประทานอาหารประเภทนมและน้ำตาลมากเกินไป
- การสูบบุหรี่
- การดื่มแอลกอฮอล์
อาการบ่งชี้ของ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)
- ปวดท้องบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
- มีแก๊สในทางเดินอาหารมากผิดปกติ
- มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ย่อยอาหารบางชนิดไม่ได้ เช่น แป้ง น้ำตาลขัดขาว เมื่อทานเข้าไปจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง
- มีอาการท้องเสียเรื้อรัง ท้องเสียไม่ว่าจะทานสิ่งใดเข้าไป ท้องเสียหรือท้องผูกมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
- เหนื่อยง่าย นอนไม่ค่อยหลับ และยังอ่อนเพลียแม้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- มือเท้าเย็น
- น้ำหนักขึ้นง่ายผิดปกติ
- ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อต่าง ๆ ไม่ทราบสาเหตุ
- มีผื่นคัน และเกิดสิวเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
การรักษาภาวะ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)
ปรับการรับประทานอาหาร
- ลดการรับประทานแป้ง และน้ำตาลขัดขาว
- เลือกรับประทานข้าวไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีท และน้ำตาลทรายแดง
- รับประทานอาหารให้หลากหลายขึ้น เพื่อลดการได้รับสารเคมีชนิดเดียวนานๆ
- เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้มากขึ้น
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ลดความเครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดการใช้ยา: หากมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย ควรปล่อยให้ร่างกายฟื้นฟูด้วยตนเอง
อาหารที่ดีต่อลำไส้
อาหารกลุ่มที่มีโพรไบโอติกสูง
- โยเกิร์ต
- ผัก และผลไม้
- ถั่วเมล็ดแห้ง และถั่วเปลือกแข็ง
- ข้าว แป้ง และธัญพืชไม่ขัดสี
อาหารในกลุ่มวิตามินต่างๆ
- วิตามินเอ(Vitamin A)
- วิตามินอี(Vitamin E)
- สังกะสี(Zinc)
ภาวะลำไส้รั่วนั้นนำไปสู่การเกิดโรคในระบบทางเดินอาหารต่างๆ ได้ เช่น ภูมิแพ้, แพ้อาหาร, อ่อนเพลียเรื้อรัง, หอบหืด, ลำไส้แปรปรวน (IBS), ลำไส้อักเสบโครห์น (Crohn’s disease), ข้ออักเสบรูมาตอยด์, ปลอกประสาทอักเสบ (Multiple sclerosis), ต่อมหมวกไตบกพร่อง, แพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง (SLE), หรือไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยภาวะ ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)
หากมีปัญหาระบบทางเดินอาหารมาก่อน เช่น โรคกระเพาะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเสียง่าย ท้องผูกง่าย เป็นกลุ่มที่จะมีความเสี่ยงเกิดลำไส้รั่วง่ายมากขึ้น
มีอาการอันไม่พึงประสงค์หลังรับประทานอาหาร เช่น การกินนม แป้งสาลี ภายใน 1-2 วันมีสิวขึ้น มีผื่นคัน มีอาการปวดตามข้อมากขึ้น หรือตกกลางคืนนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หรือไม่
หากมีอาการดังที่กล่าวมา ก็อาจจะสงสัยว่า อาจเป็นภาวะลำไส้รั่วได้ ดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินอาการว่าเกิดจากภาวะลำไส้รั่วได้ และะรายการตรวจทางห้องปฏิบัติการมี ดังนี้
- การตรวจอุจจาระประเมินความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือ Comprehensive Digestive Stool Analysis (CDSA) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์คุณภาพการย่อยจากอุจจาระของเราว่าอาหารมีการย่อยสมบูรณ์ไหม สายพันธุ์ของเแบคทีเรียอยู่สมดุลดีไหม มีการเจริญเติมโดของแบคทีเรียร้าย ยีสต์ เชื้อรา หรือมีพยาธิหรือเปล่า
- การตรวจ Zonulin Test เป็นการตรวจดูระดับของโปรตีน Zonulin ที่ทำหน้าที่ควบคุมขนาดของช่องระหว่างเซลล์ที่บุผิวภายในลำไส้ดังกล่าวว่าสูงหรือไม่ เช่น เมื่อมีการแพ้สารอาหาร หรือเกิดภูมิแพ้ขึ้นมา จะทำให้ระดับของ Zonulin ในกระแสเลือดของสูงขึ้นซึ่งก็จะบอกได้ว่า เป็นลำไส้รั่วจริง
- การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง (food intolerance test ) ภูมิแพ้อาหารแฝง หรือเรียกอีกแบบว่า การแพ้อาหารแบบเรื้อรัง เป็นภาวะอาการแพ้ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน (antibody) ชนิด IgG (Immunoglobulin G) ที่ร่างกายสร้างมาต่อต้านอาหาร โดยบางครั้งจะทำปฏิกิริยากับอาหารที่แพ้แล้วทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายเราเองหรือไปรบกวนระบบภูมิต้านทานทั้งร่างกายจนแปรปรวน