การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete bloodcount; CBC) บอกอะไรเราได้?
CBC เป็นการตรวจเลือดพื้นฐาน เพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- เม็ดเลือดแดง (Red blood cell; RBC)
- เม็ดเลือดขาว (White blood cell; WBC)
- เกล็ดเลือด (Platelet; PLT)
การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด นั้นเป็นการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรค (Screening) โดยใช้ตรวจเพื่อคัดกรองหาความผิดปกติของเม็ดเลือด มากกว่าที่จะเป็นการตรวจเพื่อใช้ยืนยัน (Confirmation) หรือเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติ (Diagnostic) โดยในการแปลผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด นักเทคนิคการแพทย์จะทำการแปลผลค่าพารามิเตอร์ (Parameter) ต่างๆแต่ละรายการ โดยเปรียบเทียบกับช่วงอ้างอิง (Reference range) ว่ามีค่าสูงหรือต่ำเกินไปหรือไม่ ช่วงอ้างอิงของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดที่ใช้ในห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หรือคลินิกแลบแต่ละแห่ง อาจมีความแตกต่างกันไปได้เนื่องจากมีความแตกต่างของพารามิเตอร์ต่างๆดังนี้
- รุ่นของเครื่องตรวจที่ใช้
- วิธีการตรวจที่ใช้
- และกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ใช้ในการกำหนดช่วงอ้างอิง
การแปลผลค่าพารามิเตอร์แต่ละรายการของการตรวจ ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) มีรายละเอียดดังนี้
ค่าพารามิเตอร์ของเม็ดเลือดแดง (Red blood cell;RBC)
เม็ดเลือดแดง (Red blood cell หรือ RBC หรือErythrocyte) เป็นเซลล์เม็ดเลือดที่มีปริมาณมากที่สุด ทำหน้าที่สำคัญคือการขนส่งออกซิเจน (Oxygen) จากปอดไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยในการขนส่งออกซิเจนนั้น จะทำโดยโมเลกุลของโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งมีชื่อว่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hb) โดยฮีโมโกลบินมีส่วนประกอบย่อยที่สำคัญ 2 อย่าง คือ
- ฮีม (Heme) เป็นโมเลกุลที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ
- โกลบิน (Globin) ซึ่งเป็นโมเลกุลของโปรตีนเม็ดเลือดแดงถูกสร้างที่ไขกระดูก มีอายุอยู่ในร่างกายประมาณ 120 วัน เมื่อเสื่อมสภาพจะถูกนำไปทำลายที่ม้าม
การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของเม็ดเลือดแดง เป็นดังนี้
Red blood cell count (RBC count):
ค่านี้เป็นค่า ปริมาณเม็ดเลือดแดง ที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ โดยมีช่วงอ้างอิง
- ในผู้ชายอยู่ที่ 4.5 – 5.9 10 6 /mm3
- ในผู้หญิงอยู่ที่ 4.5 – 5.1 10 6 /mm3
(ห้องปฏิบัติการบางแห่ง อาจรายงานผลค่า RBC count ด้วยหน่วย /microlitre แทนก็ได้ ซึ่งมีค่าเท่ากัน เนื่องจาก 1mm3 = 1 microlitres)
ในกรณีที่ค่า RBC count มีค่าต่ำ : แสดงว่าเม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยเกินไป ภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยเกินไป เราเรียกว่าภาวะเลือดจางหรือโลหิตจาง (Anemia)ซึ่งอาจทำให้การขนส่งออกซิเจนไปใช้ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายทำได้ไม่เพียงพอ
ถ้าค่า RBC count มีค่าสูง : แสดงว่าเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากเกินไป ภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากเกินไป เราเรียกว่าภาวะเลือดข้นหรือภาวะเม็ดเลือดแดงมาก(Polycythemia) ซึ่งอาจทำให้เกิดการเกาะกลุ่มกันของเม็ดเลือดแดง แล้วไปอุดตันหลอดเลือดที่มีขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดฝอย ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายส่วนนั้นไม่ได้หรือได้ยากขึ้น
ภาวะโลหิตจางเป็นภาวะที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในคนไทย
ภาวะโลหิตจางอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
- ขาดวิตามินบี 12 (B12) หรือขาดโฟเลต(Folate)
- โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย(Thalassemia), โรคพร่องเอนไซม์ G6PD (G6PDDeficiency)
- การเสียเลือดจากสาเหตุต่างๆ (Blood loss)
- ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
- ความผิดปกติของไขกระดูก (Bone marrow disorder)
- ภาวะการอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammatory disease)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
ภาวะเม็ดเลือดแดงมากเกิดได้จากหลายสาเหตุ เเต่สาเหตุที่พบบ่อย เช่น
ภาวะโลหิตจางอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- เกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- โรคปอดเรื้อรัง (Chronic lung disease)
- การสูบบุหรี่ (Smoking)
- การปรับตัวทางสรีระวิทยาของคนที่อาศัยอยู่บนที่สูง (Living at high altitude)
- โรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital heart disease)
- เนื้องอกที่ไตที่สร้างฮอร์โมนอิริโทรโพอิตินมากเกิน (Kidney tumor that produces excess erythropoietin)
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic cause)เช่น โรคโพลีไซทีเมีย เวอรา (Polycythemia vera)
Hemoglobin (Hb)
ค่าระดับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin; Hb) ซึ่งเป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง เป็นค่าที่ช่วยบ่งบอกปริมาณเม็ดเลือดแดงในทางอ้อม เพื่อใช้ประเมินภาวะโลหิตจาง (Anemia)และภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (Polycythemia) เช่นกัน โดยมักมีค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่า RBC count ช่วงอ้างอิงของค่าฮีโมโกลบิน
- ในผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 13.5 – 17.5 g/dL
- ในผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 12.0 – 15.5 g/dL
Hematocrit (Hct)
ค่าระดับความเข้มข้นเลือด(Hematocrit; Hct) เป็นค่าที่บอกสัดส่วนปริมาตรของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาตรของเลือดทั้งหมด ค่านี้จะแสดงผลเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยช่วงอ้างอิง
- ในผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 38.8 – 50.0 %
- ในผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 34.9 – 44.5 %
ค่าระดับความเข้มข้นเลือด เป็นค่าที่ใช้ประเมิน ภาวะโลหิตจาง (Anemia) และ ภาวะเม็ดเลือดแดงมาก(Polycythemia) เช่นกัน โดยจะใช้พิจารณาร่วมไปกับค่า RBC count และ Hb และมักมีค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่า RBC count และ Hb เสมอ
Red blood cell indices
ค่าดัชนีเม็ดเลือดแดง (Red blood cell indices) เป็นค่าต่างๆ ที่ใช้บอกลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้บอกลักษณะของภาวะโลหิตจาง(Anemia) เเละค่าดัชนีเม็ดเลือดแดงมีอยู่ 3 ค่า ดังนี้
Mean cell volume (MCV) : ค่าเฉลี่ยปริมาตรเม็ดเลือดแดง (Mean cell volume) หรือ Mean corpuscular volume (MCV) เป็นค่าที่บอกขนาดเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดง
มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ 80 – 96 fL
- ถ้าค่านี้ต่ำ แสดงว่าเม็ดเลือดแดงมีขนาดเฉลี่ยเล็กกว่าปกติ (Microcytic) พบได้ใน :
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Irondeficiency) และ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นต้น
- ถ้าค่านี้สูง แสดงว่าเม็ดเลือดแดงมีขนาดเฉลี่ยใหญ่กว่าปกติ (Macrocytic) พบได้ใน :
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (B12) หรือโฟเลต (Folate)
- ภาวะไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดผิดปกติ(Myelodysplasia)
- โรคตับ (Liver disease)
- ภาวะไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) เป็นต้น
Mean cell hemoglobin (MCH) ค่าเฉลี่ยระดับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (Mean cell hemoglobin หรือ Mean corpuscular hemoglobin หรือ MCH) เป็นค่าที่บอกปริมาณเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์
มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ 27.5 – 33.2 pg
ค่านี้เป็นค่าที่ใช้พิจารณาเสริมกับค่า MCV โดยมักจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากหากขนาดเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงเล็ก ก็จะมีปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์ต่ำไปด้วย และหากขนาดเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงใหญ่ ก็จะมีปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์สูงไปด้วย
Mean cell hemoglobin concentration (MCHC) ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง (Mean cell hemoglobin concentration หรือ Mean corpuscular hemoglobin concentration หรือ MCHC) เป็นค่าที่บอกความเข้มข้นเฉลี่ยของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์
มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 33.4 – 35.5 g/dL
- ถ้าค่านี้ต่ำ แสดงว่าเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีความเข้มข้นฮีโมโกลบินน้อย (Hypochromia) พบได้ใน
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Irondeficiency)และ โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- ถ้าค่านี้สูง แสดงว่าเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีความเข้มข้นฮีโมโกลบินมาก (Hyper chromia) พบได้ใน
- ภาวะโลหิตจาง จากเม็ดเลือดแดงแตกเนื่องจาก ภาวะภูมิคุ้มกันต่อต้านตนเอง (Autoimmune hemolytic anemia)
- ผู้ป่วยถูกที่ถูกไฟไหม้ (Burn patient)
- โรคเม็ดเลือดแดงป่องจากพันธุกรรม (Hereditary spherocytosis)
RBC distribution width (RDW)ค่าการกระจายตัวของขนาดเม็ดเลือดแดง (RBCdistribution width หรือ RDW) เป็นค่าที่บอกถึงความแปรปรวน (Variation) ของขนาดเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ว่ามีขนาดแตกต่างกัน มากน้อยเพียงใด
ช่วงอ้างอิงของค่านี้อยู่ที่ประมาณ 11.6 – 14.6 %
- ถ้าค่านี้เป็นปกติ แสดงว่าขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีขนาดเท่าๆ กัน
- แต่ถ้าค่านี้สูง แสดงว่าขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งจะพบได้ในภาวะโลหิตจางบางอย่าง เช่น
ภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (B12) หรือโฟเลต (Folate) ซึ่งเป็นภาวะโลหิตจางที่จะพบเซลล์เม็ดเลือดแดงบางส่วนมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือพบในภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Irondeficiency) ซึ่งมักจะพบเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์มีขนาดแตกต่างกัน
RBC morphology รูปร่างของเม็ดเลือดแดง (RBC morphology) ค่านี้เป็นค่าที่บอกรูปร่างของเม็ดเลือดแดง โดยอาจได้จากการวิเคราะห์โดยเครื่องตรวจอัตโนมัติ (Automatedmicroscopy) หรือโดยการที่นักเทคนิคการแพทย์ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูจากการเสมียร์เลือดผ่านแผ่นสไลด์ที่ย้อมสี(Peripheral blood smear) ก็ได้
การดูรูปร่างของเม็ดเลือดแดง จะดูดังนี้ :
- การติดสี (ซึ่งบ่งบอกปริมาณฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง ถ้ามีมากก็จะติดสีเข้ม ถ้ามีน้อยก็จะติดสีจาง) และขนาดกับรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ปกติ เม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่จะมีการติดสีเข้มปกติ(Normochromic) และมีขนาดกับรูปร่างที่ปกติ(Normocytic)
- บางรายที่พบความผิดปกติ (ส่วนใหญ่พบในผู้มีภาวะโลหิตจาง) อาจพบ ลักษณะเม็ดเลือดแดงมีการติดสีจาง(Hypochromic)
มีขนาดของเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน (Anisocytosis) : เกิดจากการที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงบางเซลล์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Macrocytic) หรือเล็กกว่าปกติ (Microcytic) ปะปนอยู่กับเซลล์เม็ดเลือดแดงทั่วไป เเละ มักจะพบว่ามีค่า RDW สูงขึ้นด้วย
- หรือมีรูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ(Poikilocytosis) : เกิดจากการที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงบางเซลล์มีรูปร่างผิดปกติ พบปะปนอยู่กับเซลล์เม็ดเลือดแดงทั่วไป ลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติที่พบได้ เช่น
- เซลล์รูปเป้า (Target cell)
- เซลล์รูปกลม (Spherocyte)
- เซลล์รูปรี (Ovulocyte)
- เซลล์รูปหนาม (Acanthocyte หรือ Spur cell)
- เซลล์ขอบหยัก (Burr cell)
- เซลล์รูปเคียว (Sickle cell)
- เซลล์รูปหยดน้ำ (Teardrop cell)
- เซลล์รูปเศษเสี้ยว (Schistocyte) เป็นต้น
ในการรายงานลักษณะขนาดของเม็ดเลือดแดงแต่ละเซลล์ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน (Anisocytosis) และรูปร่างของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ (Poikilocytosis) มักจะรายงานเป็นระบบเกรด (Grading) อย่างไรก็ตามระบบการให้เกรดของห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งอาจจะมีความแตกต่างกันไปได้
ตัวอย่างของระบบการให้เกรดแบบหนึ่ง เช่น แบ่งเป็น
- Few (พบเซลล์ที่ผิดปกติ < 5 %)
- 1+ (พบเซลล์ที่ผิดปกติ 6 – 10 %)
- 2+ (พบเซลล์ที่ผิดปกติ 10 – 25 %)
- 3+ (พบเซลล์ที่ผิดปกติ 25 – 5 0 %)
- 4+ ( พบเซลล์ที่ผิดปกติ > 50 % ขึ้นไป)