กรดไหลย้อน - gastroesophageal reflux disease

บอกลาโรค กรดไหลย้อน ถ้ารู้สิ่งนี้ !!

โรค กรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease: GERD) เป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหารไม่ว่าจะเป็นกรดหรือแก๊สกลับไปที่หลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติร่างกายคนเราจะมีการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารอยู่บ้างโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณกรดที่ย้อนมากขึ้นหรือย้อนบ่อยกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรค หรือหลอดอาหารมีความไวต่อกรดมากขึ้นแม้ว่าจะมีปริมาณกรดที่ย้อนขึ้นไปไม่มากกว่าปกติ

อาการของ กรดไหลย้อน

อาการสำคัญที่พบบ่อยในโรคกรดไหลย้อน ได้แก่

  • ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก ซึ่งมักเกิดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
  • ความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
  • มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
  • จุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่

นอกจากอาการเหล่านี้แล้ว โรคกรดไหลย้อนยังก่อให้เกิดอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น

  • อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
  • เสียงแหบเรื้อรัง เสียงเปลี่ยน
  • ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • กลืนติดขัดเหมือนมีก้อนจุกในคอ
  • อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
  • โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตามปกติ
โรค กรดไหลย้อน - gastroesophageal reflux disease

เราจะหยุดทรมานตัวเองอย่างไร?

กรดไหลย้อน เป็นโรคที่มักมีอาการเป็นๆ หายๆ หากผู้ป่วยยังคงมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเดิม โดยเฉพาะอาหารการกินที่ส่งผลให้อาการกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น อาหารเหล่านี้..คืออาหารที่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยง

  1. อาหารไขมันสูง : ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อนควรงดอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอดๆ อาหารมัน ช็อกโกแลต อาหารจานด่วน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ นม เนย ชีสและไอศกรีม หรืออาจจะเป็นไขมันจากเนื้อสัตว์เป็นต้น เพราะไขมันจากอาหารเหล่านี้จะไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือร้อนกลางอกได้
  2. อาหารที่มีแก๊สมาก : น้ำอัดลม ชา กาแฟ โซดา เครื่องดื่มชูกำลัง อาหารรสจัด เช่น เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เพราะอาหารกลุ่มนี้จะไปกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำย่อยมากขึ้น
  3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เบียร์ สุรา ไวน์ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด จะไปกระตุ้นกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารเปิดออก ส่งผลให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหารได้ง่าย
  4. น้ำส้มสายชู : จัดเป็นเครื่องปรุงรสที่มีกรดมาก
  5. ผลไม้ที่มีกรดมาก : ส้ม องุ่น มะนาว มะเขือเทศ สับปะรด น้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัด
  6. อาหารหมักดอง : ปลาร้า หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม
  7. คาเฟอีน : กาแฟและน้ำชา สารคาเฟอีน ในชาและกาแฟ กระตุ้นให้หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารคลายตัว ทำให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นมาได้ง่ายขึ้น และไปเร่งให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารได้ด้วย
  8. ผักที่มีกรดแก๊สมาก : หอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม พริก พริกไทย หอมแดง เพราะผักเหล่านี้จะไปเพิ่มกรดแก๊สในกระเพาะอาหาร

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน

  1. อาหารโปรตีนที่ไขมันต่ำ : เนื้อปลา ไก่ ไข่ขาว นมไขมันต่ำ หรือน้ำเต้าหู้

  2. อาหารที่มีไฟเบอร์สูง :  ธัญพืช ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท ผัก ผลไม้ โดยผลไม้สำหรับคนเป็นกรดไหลย้อนนั้น ควรเป็นผลไม้ที่ไม่มีกรดมาก อย่างเช่น กล้วย แตงโม แคนตาลูป แอปเปิ้ล พีช ลูกแพร์ อะโวคาโด

  3. ดื่มน้ำขิงเป็นประจำ  : เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน สามารถช่วยขับลม ช่วยย่อย กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยลดอาการท้องอืด หรืออาการกรดและแก๊สในกระเพาะเกินได้

  4. อาหารที่มีไขมันดี :  ไขมันดี (High-Density Lipoprotein: HDL) คือ ไขมันคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) การกินอาหารที่เต็มไปด้วยไขมันดี จึงช่วยไล่ไขมันไม่ดี ซึ่งเป็นโทษต่ออาการกรดไหลย้อนได้อาหารที่มีไขมันดี ได้แก่ ถั่วอัลมอนด์ ถั่ววอลนัท ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาทะเลน้ำลึก น้ำมันที่ให้กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง เป็นต้น

  5. ผักที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ :  ผักใบเขียว บร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำดอก มันฝรั่ง ถั่วเขียว แตงกวา

  6. ผลไม้สำหรับคนเป็นกรดไหลย้อน  : แตงโม แคนตาลูป เมลอน แอปเปิล พีช ลูกแพร์ หรือผลไม้รสหวานชนิดอื่น ๆ ที่ไม่มีรสเปรี้ยว

  7. กล้วย : เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากการกล้วยช่วยลดอาการปวดท้อง และมีสารเซโรโทนิน ที่ช่วยยับยั้งการหลั่งของน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้ลำไส้เล็กบีบตัวมากขึ้น จึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและทางเดินอาหารได้

เมื่อเราทราบการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนแล้ว เราจะต้องเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยลดการทำงานของกระเพาะอาหาร ไม่รับประทานอาหารมากจนเกินไป และหลังรับประทานอาหารควรเว้นระยะเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนเข้านอนเพื่อให้กระเพาะอาหารได้ย่อยอาหาร

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน - Diet for patients with GERD

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page