วิตามินดี มีประโยชน์มากมาย นอกจากอยู่ในแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าและเย็น เพื่อเป็นตัวช่วยดูดซึมแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปเสริมสร้างกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง แล้ว ยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่น วิตามินดียังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มคัน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิต ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ คลายความเครียด ลดอาการโรคซึมเศร้า ได้อีกด้วย
ความสำคัญของ วิตามินดี
วิตามินดี มีหน้าที่หลักในการช่วยดูดซึมแคลเซียม ช่วยให้กระดูกแข็งแรงและป้องกันโรคกระดูกบาง (Osteopenia) และกระดูกพรุน (Osteoporosis) เเละวิตามินดียังมีคุณสมบัติพิเศษอีกจำนวนมาก ได้แก่ วิตามินดีมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศ จึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น
- ช่วยลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone)
- ป้องกันการสูญเสียแคลเซียมจากกระดูก
- เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)
- ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคเบาหวาน
คนที่ขาด วิตามินดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าคนทั่วไปและการเสริมวิตามินดีช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาล (Glucose Metabolism) ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ
วิตามินดี ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Cardiovascular Diseases) อีกด้วย
วิตามินดียังมีหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune System) มีการค้นพบ Vitamin D Receptor หรือตัวรับที่จับกับวิตามินดีบน T cell และ B cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาคุกคามร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เซลล์มะเร็ง
ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนการให้วิตามินดีเสริมเพื่อช่วยต้านโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) และวิตามินดีช่วยให้สมองหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) มากขึ้น มีผลช่วยลดความเครียด (Stress) และ ภาวะซึมเศร้า (Depression)
ในด้านผิวพรรณ วิตามินดีช่วยในการแบ่งเซลล์ (Cell Proliferation) และการพัฒนาเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ซ่อมแซมส่วนสึกหรอต่าง ๆ ช่วยชะลอวัยของผิว (Delay Skin Aging)
วิตามินดียังมีผลต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา โดยเฉพาะการเล่นกีฬาที่มีความหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ที่เรียกว่า Endurance Sport เช่น
- การวิ่งระยะไกล (Long – Distance Running)
- การปั่นจักรยาน (Cycling)
- ไตรกีฬา (Triathlons)
นอกจากนั้นยังพบว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยให้เพิ่มศักยภาพดังนี้
- นำออกซิเจนจากเลือดส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ ได้ดีขึ้นขณะออกกำลังกาย
- ลดอาการเมื่อยล้าและอักเสบของกล้ามเนื้อ
- เพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อ สามารถรับแรงกระแทกได้ดีขึ้น
แหล่งของวิตามินดี
ร่างกายมีแหล่งรับวิตามินดีอยู่ 2 แหล่งหลักๆ คือ อาหาร และ แสงแดด
- แสงเเดด :วิตามินดีได้จากการที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีเองได้ใต้ชั้นผิวหนัง ผ่านการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (Ultraviolet B ray) โดยแสงแดดจะช่วยให้ร่างกายสังเคราะห์คอเลสเตอรอล(Cholesteral)เป็นวิตามินดี(Vitamin D)สะสมไว้ที่ตับเพื่อนำออกมาใช้ในการละลายไขมัน มีผลในการบำรุงกระดูก ควบคุมระดับแคลเซียม เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี แนะนำให้ออกมาสัมผัสแสงแดดบ้าง โดยเฉพาะแสงแดดตอนเช้า( ช่วงเวลา 06.00 น.-09.00 น.)และะช่วงเย็น(ช่วงเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป) เเนะนำควรรับเเสงเเดด ประมาณ 15-20 นาที
- อาหาร : การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี ซึ่งพบมากในปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู ปลาซาร์ดีน ไข่ และนมที่มีการเติมวิตามินดี แต่ถ้าเราไม่สามารถปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต(ได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ หรือไม่ชอบออกมาสัมผัสแสงแดด) เราสามารถเลือกการรับประทานวิตามินดีในรูปของอาหารเสริม (Vitamin D Supplementation) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและผลลัพธ์ที่ดีควรปรึกษาแพทย์และตรวจระดับวิตามินดีในเลือด(Vitamin D level in blood)ก่อนเสริมวิตามิน
ประโยชน์ ของวิตามินดี
- ช่วยลดความเครียด และต้านภาวะซึมเศร้า
- ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
- ช่วยลดอาการปวดรูมาตอยด์
- ช่วยการทำงานของระบบสังเคราะห์ฮอร์โมน
- กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
- ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี
- ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต
- ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
เอกสารอ้างอิง
- Heike A. Bischoff-Ferrari Catherine M. Gordon David A. Hanley Robert P. Heaney M. Hassan Murad Connie M. Weaver Evaluation, Treatment, and Prevention of Vitamin D Deficiency: an Endocrine Society Clinical Practice Guideline. The Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism, Volume 96, Issue 7, 2011:1911–1930.
- Lips P, Hosking D, Lippuner K, Norquist JM, Wehren L, Maalouf G, et al. The prevalence of vitamin D inadequacy amongst women with osteoporosis: An international epidemiological investigation. J Intern Med. 2006;260:245–54.