โรค แพ้ภูมิตัวเอง - โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus ) – โรคลูปัส คืออะไร?
โรค แพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythromatous: SLE) หรือ ที่คนไทยรู้จักในชื่อ โรค พุ่มพวง เป็นโรคร้ายที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่มีข้อบ่งชี้แสดงอาการป่วยในหลาย ๆ อวัยวะร่วมกันโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันหรือต่างช่วงเวลาก็ได้ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ของแต่ละอาการเป็นระยะ และอาการรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน อาจมีข้อบ่งชี้โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE ได้
โรค แพ้ภูมิตัวเอง
โรค แพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยภูมิคุ้มกันของคน ๆ นั้นทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายของตัวเองจนเกิดการอักเสบและสามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับอวัยวะได้ทั่วร่างกาย เช่น
- ข้ออักเสบ
- ผิวหนังอักเสบ
- ผื่นเเดงตามผิวหนัง
- การอักเสบของเนื้อเยื่อ
- การอักเสบของไต
- เส้นประสาทอักเสบ
หากป่วยเป็นโรคนี้ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า Antinuclear Antibody (ANA) ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน
สาเหตุ
สาเหตุของโรคนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุหลายประการรวมกัน เช่น
- พันธุกรรม
- ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น แสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต) ความเครียด
- การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคอื่นๆ
- การใช้ยาบางตัว เช่น methyldopa, procainamide, hydralazine, isoniazid, chlorpromazine
- ภาวะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยเสี่ยง
- เพศ: พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- อายุ: ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุระหว่าง 15 ถึง 45 ปี
- เชื้อชาติ: พบได้บ่อยในชาวแอฟริกัน อเมริกัน และชาวเอเชีย
- นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง)
- และปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย แสงแดด เป็นต้น
อาการ
- มีอาการข้ออักเสบ ปวดข้อ ข้อบวม
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- มีผื่นสีแดงขึ้นบริเวณผิวหนังที่ได้รับแสงแดด
- ผื่นสีแดงขึ้นที่ใบหน้า บริเวณจมูกและแก้ม (เป็นรูปผีเสื้อ)
- ผมร่วง
- ตาแห้งหรือปากแห้งเรื้อรัง
- เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ เช่น ไตอักเสบ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- อาจพบภาวะซีดจากเม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดต่ำ
ภาวะแทรกซ้อนจาก โรค แพ้ภูมิตัวเอง
การเจ็บป่วยจาก โรค แพ้ภูมิตัวเอง จะส่งผลต่อผู้ป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้การได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างทันท่วงทีก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และ บรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดกับอวัยวะอื่นๆ การได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที ความรุนแรงของโรคอาจทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงแก่ชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วย โรค แพ้ภูมิตัวเอง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการออกแดด
- ลดและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อด้วยการทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย
- หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง หรือ อาหารแปรรูป
การตรวจวินิจฉัย โรค แพ้ภูมิตัวเอง
- ซักประวัติครอบครัว ร่วมกับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่เนื่องจากอาการของ โรค SLE ไม่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้การตรวจร่างกายอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย
ผลการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เช่น การตรวจผิวหนัง (Skin biopsy) หรือ ตรวจชิ้นเนื้อไต (Kidney biopsy)
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจเลือด เพื่อประเมินการอักเสบในร่างกาย เช่น CRP หรือ ESR
- การตรวจภูมิคุ้มกันต่อร่างกายตัวเอง เช่น ANA (antinuclear antibody), Anti-dsDNA, Antiphospholipid antibody และ Anti-Sm antibody เป็นต้น
ตรวจเพื่อติดตามความเสียหายในอวัยวะอื่น เช่น ตรวจติดตามอาการทางไต ด้วย BUN, Creatinine และ eGFR (คลิกที่นี่ เพื่อดูรายละเอียด โปรเเกรมตรวจโรค SLE)
การรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาทีทำให้อาการของโรคหายขาด อาการของโรคจะสามารถบรรเทาได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- รักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs
- ใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อควบคุมอาการของโรค ในกรณีที่โรคแสดงอาการรุนแรง เช่น ยาในกลุ่ม Corticosteroids
- ป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดกับอวัยวะอื่นๆ
อ้างอิง
- “Diagnosing and Treating Lupus,” Centers for Disease Control and Prevention, 27 June 2022. [Online]. Available: [cdc.gov/lupus] [Accessed 10 September 2023].
- “Systemic Lupus Erythematosus (SLE),” Division of Population Health, National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion, 5 July 2022. [Online]. Available: [cdc.gov] #diagnose. [Accessed 10 September 2023].
- Pediatric Rheumatology International Trials Organization, 2016. [Online]. Available: [printo.it] โรคเอสแอลอีหรือลูปัส. [Accessed 11 September 2023].