เกล็ดเลือด - Platelet

ค่าของ เกล็ดเลือด (Platelet; PLT)

เกล็ดเลือด (Platelet; PLT) คืออะไร?

เกล็ดเลือด (Platelet หรือ PLT หรือ Thrombocyte) เป็นเม็ดเลือดที่มีขนาดเล็กที่สุด มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือดทำหน้าที่เกี่ยวกับการทำให้เลือดแข็งตัว (Blood clotting) เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลและมีเลือดไหล เกล็ดเลือดจะพองตัว และรวมกลุ่มกัน ทำให้เกิดลักษณะเป็นก้อนเหนียวภายในหลอดเลือด เพื่ออุดแผล ทำให้เลือดหยุดไหล เกล็ดเลือดถูกสร้างขึ้นจากไขกระดูกเช่นเดียวกับเม็ดเลือดชนิดอื่นๆ มีอายุอยู่ในกระแสเลือดได้ประมาณ 8 – 9 วัน จากนั้นเกล็ดเลือดที่เสื่อมสภาพจะถูกนำไปทำลายที่ตับและม้าม

การแปลผลค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของ เกล็ดเลือด เป็นดังนี้

Platelet count

การตรวจปริมาณของเกล็ดเลือด (Platelet count) เป็นค่าปริมาณของเกล็ดเลือดที่นับได้จากตัวอย่างเลือดของผู้เข้ารับการตรวจ

* มีช่วงอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 450,000 cell/mm3  (หรือ cell/microliter ซึ่งมีค่าเท่ากัน)

หากค่า Platelet count ต่ำ จะเรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ทำให้เกิดปัญหาเลือดไหลแล้วหยุดได้ยาก เกิดจุดเลือดออก (Petechia) จ้ำเลือดขนาดเล็ก (Purpura) จ้ำเลือดขนาดใหญ่ (Ecchymosis) ขึ้นตามผิวหนัง

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ มีได้หลากหลายมาก ที่พบได้ เช่น

  • คนตั้งครรภ์ (Pregnancy)
  • ภาวะม้ามโต (Spleenomegaly)
  • โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura หรือ Idiopathic thrombocytopenic purpura หรือ ITP)
  • ผลจากการกินยาบางชนิด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ซัลฟา (Sulfa) เฮพาริน (Heparin)
  • ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis)
  • การติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง (Sepsis)
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคโมโนนิวคลีโอซิส (Infectious mononucleosis) โรคหัด (Measles) โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
  • ได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสี (Chemo or radiation therapy), ภาวะความผิดปกติของไขกระดูก เช่น Myelodysplasia และ Aplastic anemia
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เป็นต้น
เกล็ดเลือดต่ำ - Low Platelets

หากค่า Platelet count มีค่าสูง จะเรียกว่ามีภาวะเกล็ดเลือดสูง (Thrombocytosis) ทำให้เกิดปัญหาเกิดเลือดแข็งตัวแบบผิดปกติในหลอดเลือดได้

สาเหตุของภาวะ เกล็ดเลือดสูง พบได้หลายอย่าง เช่น

  • ความผิดปกติของไขกระดูก (Myeloproliferative disorder) เช่น ภาวะไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมากผิดปกติ (Essential thrombocytosis)
  • โรคมะเร็ง (Cancer) เช่น มะเร็งปอด มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency)
  • ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia)
  • ภาวะอักเสบเรื้อรัง เช่น ลูปัส (Lupus) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease) เป็นต้น

Platelet morphology

นอกจากการตรวจจำนวนเกล็ดเลือดแล้ว จะรายงานผลเกี่ยวกับเกล็ดเลือดจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ดูหยดเลือดย้อมสีบนแผ่นสไลด์ (Peripheral blood smear) โดยจะนับดูจำนวน ขนาด และรูปร่าง ของเกล็ดเลือด หากพบความผิดปกติก็จะรายงานผลความผิดปกติ โดยลักษณะความผิดปกติของเกล็ดเลือดที่พบได้ เช่น

พบเกล็ดเลือดเกาะกลุ่ม (Clumping) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากความผิดพลาดในการเตรียมตัวอย่างเลือด ทำให้เกิดการแข็งตัวในหลอดเก็บเลือดขึ้น (โดยเฉพาะแบบที่ใช้สาร EDTA เป็นสารกันเลือดแข็งตัว) ลักษณะจะพบเกล็ดเลือดเกาะรวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ผลการตรวจปริมาณของเกล็ดเลือดพบต่ำกว่าปกติได้ (ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้เข้ารับการตรวจมีปริมาณเกล็ดเลือดปกติ) วิธีการแก้ไขคือเจาะเลือดตรวจใหม่ โดยอาจใช้หลอดเก็บเลือดที่ผสมสารกันเลือดแข็งตัวชนิดอื่น เช่น ซิเตรต (Citrate) หรือเฮพาริน (Heparin) แทน เพื่อลดโอกาสเกิดการแข็งตัว

พบเกล็ดเลือดยักษ์ (Giant platelet) คือพบเกล็ดเลือดที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ อาจจะขนาดใหญ่เท่ากับขนาดของเม็ดเลือดแดงเลยก็ได้ เกล็ดเลือดที่ผิดปกติชนิดนี้ มักจะพบได้ในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) บางสาเหตุ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenic purpura หรือ Idiopathic thrombocytopenic purpura หรือ ITP) เป็นต้น

High Platelets - เกล็ดเลือดสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Ceelie H, Dinkelaar RB, van Gelder W. Examination of peripheral blood films using automated microscopy; evaluation of Diffmaster Octavia and Cellavision DM96. J Clin Pathol 2007;60(1):72-9.
  2. Constantino BT. Reporting and grading of abnormal red blood cell morphology. Int J Lab Hematol 2015;37(1):1-7.
  3. Curry CV. Medscape – Differential blood count [Internet]. 2015 [cited 2017 Apr 16]. Available from:[emedicine.medscape.com]
  1. Lab Tests Online. Complete blood count (CBC) [Internet]. 2017 [cited 2017 Apr 16]. Available from: [testing.com]
  1. Mayo Clinic. Complete blood count (CBC) [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 16]. Available from: [mayoclinic.org].
  1. Tidy C. Patient – Peripheral blood film [Internet]. 2016 [cited 2017 Apr 20]. Available from: [patient.info]
  2. Thompson EG, O’Donnell J. WebMD – Complete blood count (CBC) [Internet]. 2015 [cited 2017 Apr 16]. Available from: [webmd.com]
  3. World Health Organization (WHO). The global prevalence of anaemia in 2011. Geneva: WHO; 2015.

แชร์บทความนี้ :

สอบถามรายละเอียด หรือ นัดหมายการตรวจ

ทีแอลซี อุดร แลบเซ็นเตอร์ (สาขา อุดรธานี)

ขอนแก่น ทีแอลซี แลบเซ็นเตอร์ (สาขา ขอนแก่น)

โกลบอล ทีแอลซี ยูดี เมดิคอลแลบ (สาขา กรุงเทพฯ)

You cannot copy content of this page